เป็นตะคริวตอนกลางคืน ทำอย่างไรดี? 

เป็นตะคริวตอนกลางคืน ทำอย่างไรดี? 


        “ตะคริว” เป็นอาการหดเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ ทำให้เกิดอาการปวดทรมาน มีลักษณะเป็นก้อนแข็ง มักเกิดขึ้นแบบเฉียบพลันในส่วนใดก็ได้ของร่างกาย พบบ่อยที่กล้ามเนื้อน่อง และกล้ามเนื้อต้นขา ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการตะคริวที่ขาในขณะนอนหลับจนต้องสะดุ้งตื่น หรือที่เรียกว่า ตะคริวกลางคืน พบบ่อยในวัยกลางคน ผู้สูงอายุ และสตรีตั้งครรภ์

สาเหตุ

ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด  แต่อาจมีสาเหตุมาจากอาการกล้ามเนื้อล้า การไหลเวียนเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อไม่ดี 

ปัจจัยเสี่ยงที่กระตุ้นให้เกิดตะคริว 

  • การนั่งในท่าเดิมนาน ๆ หรือใช้กล้ามเนื้อส่วนนั้นมากเกินไป 
  • การยืนหรือนั่งทำงานบนพื้นแข็ง ๆ หรือนั่งในท่าที่ไม่เหมาะสม
  • กล้ามเนื้อขาดความยืดหยุ่น มีการตึงตัวของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น
  • ดื่มน้ำน้อยเกินไป ทำให้ร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำ
  • ภาวะอื่น ๆ เช่น การตั้งครรภ์ กลุ่มโรคทางระบบประสาท การรับประทานยาเพื่อรักษาโรคบางชนิด เช่นยาลดไขมันกลุ่มสแตติน(Statins) ยาขับปัสสาวะ(Diuretics) เป็นต้น

วิธีป้องกันตะคริวขณะนอนหลับ

  • นอนในท่าที่สบายและผ่อนคลาย
  • พยายามยืดเหยียดกล้ามเนื้อบ่อย ๆ หากออกกำลังกายควรยืดเหยียดกล้ามเนื้อก่อนและหลังออกกำลังกายด้วย
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ
  • อาบน้ำอุ่นหรือแช่น้ำอุ่น

หากเป็นตะคริวขณะนอนหลับ สามารถบรรเทาอาการได้ดังนี้

  • พยายามยืดกล้ามเนื้อที่เป็นตะคริวช้า ๆ หากมีอาการที่น่องให้เหยียดขาให้ตรง กระดกปลายเท้าขึ้นแล้วค้างไว้ 10 – 15 วินาที ทำซ้ำ 5 – 10 ครั้ง
  • นวดกล้ามเนื้อที่เป็นตะคริวเพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย

ข้อควรรู้ หากเป็นตะคริวตอนกลางคืนบ่อยมากกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุต่อไป

ข้อมูลโดย  อ.พญ.สกุณี ภระกูลสุขสถิตย์
ฝ่ายเวชศาสตร์ครอบครัว
ข้อมูล ณ วันที่ 27 กันยายน 2566