ทำความรู้จักกับ ไซยาไนด์

ทำความรู้จักกับ ไซยาไนด์

ไซยาไนด์ (cyanide) เป็นสารพิษธรรมชาติที่พบได้ทั้งในสัตว์ แมลง แบคทีเรีย และพืชจำนวนมาก เช่น หัวมันสำปะหลัง หน่อไม้ และผักไชยา ซึ่งหากนำมารับประทานแบบดิบในปริมาณมากจะทำให้เกิดอาการพิษจากไซยาไนด์

ไซยาไนด์ใช้ทำอะไรบ้าง

ไซยาไนด์ถูกนำมาใช้ทางอุตสาหกรรมในหลายด้าน 

  • การถลุงแร่เงินหรือทองคำ 
  • การผลิตสี พลาสติก และยางสังเคราะห์ 
  • การผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ 
  • ในอดีตยังมีการใช้เป็นยาเบื่อหนูและใช้ในการเตรียมบ่อกุ้ง

มนุษย์และสัตว์ มีโอกาสได้รับไซยาไนด์จากหลายแหล่ง

  • อาหารปนเปื้อนไซยาไนด์ที่เตรียมไม่ถูกวิธี 
  • ควันบุหรี่ ไอเสียจากรถยนต์
  • ควันไฟจากการเผาไหม้ขนสัตว์ ผ้าไหม ไนลอน 
  • แหล่งน้ำที่มีไซยาไนด์ปนเปื้อนจากโรงงานอุตสาหกรรมและการเกษตร

การเข้าสู่ร่างกายอาจเกิดได้ทั้งทางปาก ทางลมหายใจ หรือการสัมผัส ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพได้ในระยาว

ไซยาไนด์มี 3 รูปแบบ

  • รูปแบบของผงสีขาวที่เมื่อแห้งจะไม่มีกลิ่น แต่หากได้รับความชื้นจะเปลี่ยนรูปเป็นแก๊สไฮโดรเจนไซยาไนด์ซึ่งมีกลิ่นฉุน 
  • รูปแบบของของเหลว 
  • รูปแบบของแก๊ส

ไซยาไนด์เป็นสารที่มีพิษร้ายแรง จึงมีกฎหมายควบคุม ดังนี้

ไซยาไนด์จัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 บทลงโทษ ผู้ใดผลิต นำเข้า ส่งออกหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 โดยมิได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ข้อมูลโดย : ผศ.นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล 
ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ
ข้อมูล ณ วันที่ 20 พฤษภาคม 2566