ไซยาไนด์ (Cyanide) ยาพิษมรณะ
ไซยาไนด์ถูกนำเข้าสู่ร่างกายได้ด้วยวิธีใด ?
ไซยาไนด์อาจถูกนำเข้าสู่ร่างกายทางปาก ด้วยการละลายผลึกโพแทสเซียมไซยาไนด์ในน้ำหรือเครื่องดื่มหรือทำให้เป็นผงแล้วผสมลงในอาหาร หรือผสมไซยาไนด์ในรูปของของเหลวลงในน้ำหรือเครื่องดื่มหรืออาหารได้โดยตรง นอกจากนั้น ยังอาจถูกนำเข้าสู่ร่างกายทางการหายใจด้วยไซยาไนด์ที่อยู่ในรูปของแก๊ส
ผู้ได้รับไซยาไนด์จะรู้ตัวหรือไม่ ?
ไซยาไนด์ เป็นสารที่ไม่มีสีและกลิ่น เฉพาะบางคนเท่านั้นที่อาจรับรู้กลิ่นของไซยาไนด์ได้ ซึ่งจะมีกลิ่นคล้ายกับอัลมอนด์ กลิ่นนี้บางคนบอกว่าคล้ายกับกลิ่นของเมล็ดพืชหรือเมล็ดผลไม้ที่มีความขม เช่น เมล็ดแอปเปิ้ลหรือเมล็ดลูกพีช ส่วนโพแทสเซียมไซยาไนด์มีรสชาติที่ขม หากได้รับในปริมาณมากจะมีความรู้สึกแสบหรือเผาไหม้ในปากคล้ายกับการสัมผัสกับสารด่างซึ่งเป็นสารเคมีที่มีฤทธิ์กัดกร่อนสูง
ต้องได้รับไซยาไนด์มากน้อยเพียงใดจึงจะเสียชีวิต ?
ผู้ใหญ่โดยทั่วไปมักเสียชีวิตหากได้รับไซยาไนด์ทางปากในปริมาณ 200-300 มิลลิกรัม ซึ่งเทียบได้กับปริมาณของเกลือประมาณครึ่งถึงหนึ่งในสี่ของช้อนชา
ไซยาไนด์ทำให้เสียชีวิตได้อย่างไร ?
เมื่อเข้าสู่ร่างกายทั้งด้วยการกินหรือการสูดหายใจ ไซยาไนด์เข้าขัดขวางการใช้พลังงานของเซลล์ในร่างกาย ทำให้เซลล์ต่าง ๆ ของร่างกายขาดออกซิเจน โดยเฉพาะที่สมองและหัวใจ ทำให้เกิดอาการชัก หัวใจเต้นผิดจังหวะ และหัวใจหยุดเต้น
ผู้ได้รับไซยาไนด์จะเสียชีวิตอย่างรวดเร็วเสมอไปหรือไม่ ?
หากได้รับไซยาไนด์ทางปากในขนาดสูงมักเสียชีวิตในเวลาเป็นนาที แต่หากได้รับในปริมาณต่ำอาจใช้เวลานานขึ้นเป็นหลายนาทีหรือเป็นชั่วโมง ซึ่งมีโอกาสได้รับยาต้านพิษและช่วยชีวิตได้ทัน
ถ้าได้รับไซยาไนด์แต่ยังไม่ถึงขั้นเสียชีวิต จะมีอาการอย่างไร ?
บุคคลอาจได้รับไซยาไนด์ในขนาดต่ำโดยไม่ตั้งใจ เช่นจากอาหารบางชนิดซึ่งมีไซยาไนด์เป็นส่วนประกอบ อาจมีอาการดังต่อไปนี้คือ เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก หัวใจอาจเต้นช้าลงหรือเร็วขึ้น หายใจลำบาก การหายใจอาจช้าลงหรือเร็วขึ้น อาจหายใจมีเสียงหวีด สับสน เวียนศีรษะ กระสับกระส่าย ปวดศีรษะ ปวดตา น้ำตาไหล คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนแรง
มียาที่ใช้ต้านพิษไซยาไนด์หรือไม่ ?
เมื่อถึงโรงพยาบาลและแพทย์ได้ข้อมูลว่าอาจได้รับพิษจากไซยาไนด์ แพทย์จะรีบให้ยาต้านพิษไซยาไนด์ ได้แก่ สารละลาย 3% โซเดียมไนไตร์ท ร่วมกับสารละลาย 25% โซเดียมไทโอซัลเฟต ซึ่งมักจะออกฤทธิ์เต็มที่ภายใน 30 นาที ซึ่งยาเหล่านี้ ควรมีพร้อมในโรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย ทุกแห่งในประเทศไทย ยาต้านพิษทั้งสองชนิดผลิตโดยสถานเสาวภา สภากาชาดไทย
ข้อมูลโดย : ผศ.นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล
อาจารย์พิเศษ ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ข้อมูล ณ วันที่ : 27 กรกฎาคม 2567