โรคมะเร็งเต้านมในผู้หญิงอายุน้อย

โรคมะเร็งเต้านมในผู้หญิงอายุน้อย

มะเร็งเต้านม เป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดในเพศหญิง และมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นในผู้หญิงอายุน้อยกว่า 40 ปี หรือในขณะที่ยังไม่หมดประจำเดือน โดยมักจะมีอาการของโรครุนแรงกว่าผู้ป่วยที่มีอายุมาก

พ.ศ. 2559-2561 ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมรายใหม่ที่มีอายุน้อยกว่า 40 ปี คิดเป็นร้อยละ 10 ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมรายใหม่ทั้งหมด *ที่มา Cancer in Thailand Vol.X

การตรวจวินิจฉัยมะเร็งเต้านมในผู้หญิงอายุน้อย

  • การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม แนะนำให้ตรวจในผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไปด้วยการตรวจแมมโมแกรม แต่ในกลุ่มเสี่ยงสูง เช่น มีประวัติมะเร็งเต้านมในครอบครัวหรือมีความผิดปกติทางพันธุกรรม แพทย์อาจแนะนำให้ตรวจคัดกรองเร็วขึ้น
  • ผู้หญิงอายุน้อยมีเต้านมที่หนาแน่นมากกว่าทำให้การตรวจด้วยแมมโมแกรมแม่นยำน้อยลง แพทย์อาจแนะนำให้ตรวจด้วยอัลตราซาวนด์หรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าแทน
  • ผู้หญิงอายุน้อยมีโอกาสได้รับคำแนะนำให้ตรวจคัดกรองความผิดปกติทางพันธุกรรมมากขึ้น เพราะสามารถพบความผิดปกติได้มากกว่า

    การรักษาโรคมะเร็งเต้านม
  • การรักษาจะคล้ายกับผู้ป่วยหญิงที่มีอายุมาก เช่น การผ่าตัด การฉายแสง หรือการให้ยา
  • ยาบางชนิด เช่น ยาเคมีบำบัดหรือยาต้านฮอร์โมน อาจส่งผลให้มีอาการของวัยหมดประจำเดือนหรือภาวะมีบุตรยาก จึงควรวางแผนครอบครัวก่อนเริ่มรักษา
  • หากตรวจพบความผิดปกติทางพันธุกรรมที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม แพทย์จะแนะนำวิธีตรวจคัดกรองและวิธีรักษาที่เหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคมะเร็งในอนาคต
    โรคมะเร็งเต้านมในทุกช่วงวัย มีโอกาสหายขาดสูง เมื่อได้รับการวินิจฉัยในระยะเริ่มต้นและได้รับการรักษาที่เหมาะสม
    ข้อมูลโดย : อ.นพ.ธิติฏฐ์ สุศิริวัฒนนนท์
    ศูนย์ความเป็นเลิศฯ โรคมะเร็งครบวงจร
    ข้อมูล ณ วันที่ : 12 ตุลาคม 2567