กรดไหลย้อนอาจไม่จบที่หลอดอาหาร แต่ไปถึงลำคอและกล่องเสียง

กรดไหลย้อนอาจไม่จบที่หลอดอาหาร แต่ไปถึงลำคอและกล่องเสียง

โรคกรดไหลย้อน คือ ภาวะที่ของเหลวจากกระเพาะอาหารไหลย้อนผ่านหูรูดของหลอดอาหารส่วนล่างเข้ามาในหลอดอาหาร โดยมีความถี่และความรุนแรงในระดับที่รบกวนคุณภาพชีวิต 

สาเหตุของโรคกรดไหลย้อน

  • มักพบในคนที่หูรูดหลอดอาหารส่วนล่างไม่แข็งแรง คนอ้วนลงพุง หญิงตั้งครรภ์ 
  • พฤติกรรมที่กระตุ้นให้เกิดอาการ เช่น การรับประทานอิ่มเกินไป การใส่เสื้อผ้าที่รัดหรือคับ การก้มตัวหรือเบ่งท้อง การเอนนอนหลังมื้ออาหาร 
  • การรับประทานอาหารบางชนิด เช่น อาหารไขมันสูง อาหารรสจัด ชา กาแฟ 
  • นอกจากนี้ ยังอาจพบร่วมกับภาวะการบีบตัวของหลอดอาหารผิดปกติและภาวะน้ำลายน้อย 

อาการของโรคกรดไหลย้อน

1. อาการของหลอดอาหาร

  • แสบร้อนหรือจุกแน่นกลางหน้าอก
  • เรอเปรี้ยว มีอาหารย้อนขึ้นลำคอ มักเป็นหลังรับประทานอาหารเสร็จใหม่ ๆ

2. อาการอื่น ๆ 

  • ไอเรื้อรัง
  • กล่องเสียงอักเสบ เสียงแหบเรื้อรัง คอแห้ง แสบคอ
  • รู้สึกมีก้อนจุกในลำคอ  มีเสมหะติดคอตลอดเวลา
  • หอบหืด
  • ฟันกร่อน

วิธีการรักษาโรคกรดไหลย้อน

  1. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตประจำวัน

การรับประทานอาหาร

  • รับประทานอาหารในปริมาณพอเหมาะ ไม่อิ่มเกินไป
  • หลีกเลี่ยงอาหารทอด อาหารไขมันสูง อาหารรสจัด ชา กาแฟ น้ำอัดลม 
  • หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายและท่าทางที่มีการก้มตัวหรือเกร็งท้องหลังรับประทานอาหาร
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารมื้อดึก
  • เว้นระยะเวลาอย่างน้อย 3-4 ชั่วโมงหลังมื้ออาหาร ก่อนเอนตัวหรือเข้านอน 
  • งดสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

  • ควบคุมน้ำหนักตัวให้เหมาะสม แนะนำการลดน้ำหนักในผู้ที่มีน้ำหนักเกิน
  • สวมใส่เสื้อผ้าที่สบายตัว ไม่คับเกินไป
  • หากมีอาการกรดไหลย้อนหลังเข้านอนตอนกลางคืน แนะนำให้หนุนหัวเตียงสูงประมาณ 20 ซม. เพื่อยกลำตัวส่วนบนและศีรษะให้สูงขึ้น
  1. การรักษาด้วยยา

หากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการรับประทานอาหารแล้ว อาการกรดไหลย้อนยังไม่ดีขึ้น แพทย์จะสั่งยาเพื่อการรักษา ควรรับประทานยาตามแพทย์สั่ง โดยรูปแบบมีทั้งการรับประทานยาประจำอย่างต่อเนื่อง หรือการรับประทานยาเป็นครั้งคราวตามอาการ ขึ้นอยู่กับธรรมชาติของโรคกรดไหลย้อนในแต่ละบุคคล

  1. การรักษาด้วยการผ่าตัด

ในกรณีผู้ป่วยได้รับการตรวจยืนยันว่าเป็นกรดไหลย้อนแล้ว ยังมีอาการรุนแรงและไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา หรือได้รับผลข้างเคียงจากการรับประทานยา หรือมีปัญหาในการรักษาด้วยยาในระยะยาว แพทย์อาจพิจารณาการรักษาด้วยการผ่าตัดเพื่อเสริมแรงหูรูดหลอดอาหารส่วนล่าง ทำให้หูรูดหลอดอาหารแน่นขึ้น 

เรื่อง : ผศ. (พิเศษ) นพ.ปิยะพันธ์ พฤกษพานิช
สาขาวิชาโรคทางเดินอาหาร ฝ่ายอายุรศาสตร์​
ข้อมูล ณ วันที่ : 8 เมษายน 2566