เป้าหมายการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย
การฉีดวัคชีนเป็นวิธีที่สามารถลดอัตราการติดเชื้อและการเสียชีวิตของโรคโควิด-19 ได้ ยิ่งกว่านั้นการฉีดวัคซีนในคนจำนวนมากจะสามารถยับยั้งการระบาดของโรคในชุมชนได้ด้วย การดำเนินการให้ประชากรได้รับวัคซีนอย่างรวดเร็วจึงมีความสำคัญซึ่งจะลดการเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลและการเสียชีวิต และสามารถยับยั้งการระบาดและการกลายพันธุ์ของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยแบ่งแผนการฉีดออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้
ระยะที่ 1 เมื่อมีวัคซีนปริมาณจำกัด (กุมภาพันธ์-เมษายน พ.ศ.2564)
ดำเนินการให้วัคซีนในพื้นที่ที่มีการระบาด ลดอาการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตจากโรค รวมถึงกระจายวัคซีนให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ บุคลากรทางการแพทย์บุคลากรด้านสารารณสุข บุคคลที่มีโรคประจำตัวที่มีความเสี่ยงสูง เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคไตวายผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง โรคอ้วน และประชาชนที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป
ระยะที่ 2 เมื่อมีวัคซีนมากขึ้น (พฤษภาคม-ธันวาคม พ.ศ.2564)
ขยายพื้นที่การฉีดวัคซีนครอบคลุมทั้งประเทศ ได้แก่ กลุ่มเป้าหมาย ในระยะที่ 1 บุคลากรทางการแพทย์ บุคลากรด้านสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วยโควิด-19 รวมทั้งผู้ประกอบอาชีพด้านการท่องเที่ยว และผู้เดินทางระหว่างประเทศ
ระยะที่ 3 เมื่อมีวัคซีนเพียงพอ (มกราคม พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป)
1.กลุ่มเป้าหมาย คือ ประชาชนทั่วไป เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในระดับประชากร ลดการแพร่กระจายของเชื่อและฟื้นฟูประเทศกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
2.เมื่อประชาชนเริ่มรับวัคซีนแล้ว ยังคงต้องรักษามาตรการวิถีชีวิตใหม่และการเว้นระยะห่างอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะสามารถฉีดวัคซีนป้องกันให้กับประชาชนได้เกินร้อยละ 50-75 จึงจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้
ข้อมูล ณ วันที่ 24 มีนาคม 2564
ที่มา : ศ. นพ.ธีระพงษ์ ตัณฑวิเชียร