เตรียมตัวอย่างไร? เมื่อต้องนั่งเครื่องบินขณะตั้งครรภ์
1. สตรีตั้งครรภ์ปกติที่ไม่มีโรคประจำตัวหรือภาวะแทรกซ้อน
ทางสูติศาสตร์ ถือว่ามีความปลอดภัยในการเดินทางโดยเครื่องบิน
2. ช่วงเวลาที่ถือว่าปลอดภัย
สำหรับการเดินทางโดยเครื่องบิน คือ ช่วงที่อายุครรภ์ประมาณ 14-28 สัปดาห์ หรือไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรค เนื่องจากในไตรมาสแก อาจมีการแพ้ท้องมากและรู้สึกไม่สบาย และไตรมาสที่ 2 เป็นช่วงที่มีความเสี่ยงต่ำต่อการแท้งบุตรหรือเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด
3. การผ่านเครื่องตรวจกรองโลหะ
เพื่อค้นหาอาวุธ เป็นเพียงคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าระดับต่ำไม่ใช่รังสีเอ็กซ์ จึงถือว่ามีความปลอดภัย
4. การคาดเข็มขัดนิรภัย
ต้องคาดให้เส้นที่อยู่ในแนวนอนอยู่ใต้ท้อง และควรคาดไว้ตลอดเวลาที่นั่ง โดยเฉพาะเมื่อเครื่องบินผ่านบริเวณที่อากาศแปรปรวน
5. ระดับความกดอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป
หรือรังสีในอากาศเมื่อบินอยู่ในระดับสูงไม่ค่อยมีผลเสียต่อสตรีตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ แต่หากมีภาวะโลหิตจางหรือรกทำงานไม่สมบูรณ์ อาจเกิดการขาดออกซิเจนได้ เพราะความกดอากาศในเครื่องจะปรับไว้ที่ต่ำกว่าระดับพื้นดิน
6. หลีกเลี่ยงการกินอาหารหรือเครื่องดื่ม
ที่ทำให้เกิดลมในทางเดินอาหาร เช่น ชา กาแฟ หรือแอลกอฮอล์ และควรเตรียมยาแก้อาเจียนเผื่อไปด้วยเสมอ
7. กรณีที่เดินทางไกล
หรือมีความเสี่ยงต่อภาวะเส้นเลือดอุดตันระหว่างเดินทาง ควรขยับแขนขาบ่อย ๆ หรือลุกเดินบ้างอาจใช้ถุงน่องซัพพอร์ต และควรดื่มน้ำมาก ๆ
8. สตรีตั้งครรภ์
อาจมีอาการปวดเมื่อยขา เท้าบวม เส้นเลือดขอดได้ง่ายและอาจปัสสาวะบ่อย เพื่อความสะดวกควรเลือกที่นั่งติดทางเดิน
9. ควรเช็กกับสายการบินที่จะใช้เดินทาง
ว่าอนุญาตได้ถึงอายุครรภ์เท่าไร ส่วนมากต่างประเทศไม่เกิน 28 สัปดาห์ แต่ในบางประเทศอาจมากกว่านั้น
ข้อแนะนำ
อย่าลืมนำเอกสารเกี่ยวกับการฝากครรภ์ ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการต่าง ๆ และยาบำรุงครรภ์ติดตัวไปด้วย (ใบรับรองแพทย์กรณีที่จำเป็น) ควรปรึกษาสูติแพทย์ผู้ดูแล หากวางแผนจะเดินทางโดยเครื่องบิน เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีข้อบ่งห้ามที่อาจไม่ทราบมาก่อน
ข้อมูล ณ วันที่ 22 ตุลาคม 2563
ที่มา : รศ. นพ.สมชาย ธนวัฒนาเจริญ