หยุดเรียกยาปฏิชีวนะว่ายาแก้อักเสบ

หยุดเรียกยาปฏิชีวนะว่ายาแก้อักเสบ

ยาปฏิชีวนะ (Antibiotic) คือ ยารักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรีย แต่มักถูกเรียกอย่างผิด ๆ ว่ายาแก้อักเสบ ทั้งที่ไม่มีฤทธิ์ลดการอักเสบแต่อย่างใด
ตัวอย่างของยาปฏิชีวนะ เช่น แอมพิซิลลิน อะมอกซิซิลลิน ออกเมนติน เอเอ็มเค ดูแรม ออมนิเซฟ ซินแนท เมแอค เซฟสแปน รูลิด คลาสิด ซิโธรแมกซ์ นอร์ฟลอกซาซิน ซิโพรฟลอกซาซิน คราวิด อะเวลอกซ์ เตตร้าชัยคลิน
ยาแก้อักเสบ หรือยาต้านการอักเสบ (Anti-inflammatory drug) คือ ยาที่ออกฤทธิ์ลดไข้ บรรเทาปวด ลดอาการบวมแดง ไม่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย
ตัวอย่างของยาต้านการอักสบ เช่น สเตียรอยด์ และยาในกลุ่มเอ็นเสด เช่น ไอบูโพรเฟน บรูเฟน โกเฟน ไฮดี ไดโคลฟีแนค โวลทาเรน ไดฟีลีน ไพรอกสิแคม ฟลามิกเพียแคม แนปพรอกเซน นาโปรซีน อินโดเมทาซิน อินโดสิด พอนสแตน โมบิก ซีลีเบร็กซ์ อาร์ด็อกเซีย
การเรียกยาปฏิชีวนะว่ายาแก้อักเสบทำให้เข้าใจผิดว่า เมื่อมีไข้ ไอ หรือจ็บคอ ต้องหายาแก้อักเสบ (ยาปฏิชีวนะ) มากินทั้งที่มากกว่า 8 ใน 10 ครั้งของโรคดังกล่าวเกิดจากการติดเชื้อไวรัสซึ่งการใช้ยาปฏิชีวนะไม่ช่วยให้หายเร็วขึ้นแต่อย่างใด
แก้ไขความเชื่อผิด ๆ เป็นพฤติกรรมที่ถูกต้อง ดังนี้
1. ไม่เรียกยาปฏิชีวนะว่ายาแก้อักเสบ
2. ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะในโรคติดเชื้อไวรัส
3. ใช้ยาปฏิชีวนะเมื่อมีหลักฐานการติดเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น

ข้อมูล ณ วันที่ 16 พฤศจิกายน 2563
ที่มา : ผศ. นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล

………………………………

รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมรณรงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้เรื่องเชื้อดื้อยา และการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผล ในวาระ “สัปดาห์รู้รักษ์ ตระหนักใช้ยาปฏิชีวนะ” ร่วมไปกับองค์การอนามัยโลก และประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก
https://www.who.int/news-room/events/detail/2020/11/18/default-calendar/world-antimicrobial-awareness-week-2020