ลูกนอนกรน ปกติหรือต้องรักษา?

ลูกนอนกรน ปกติหรือต้องรักษา?

เสียงกรน คือเสียงที่เกิดจากการสั่นสะเทือนของทางเดินหายใจในขณะนอนหลับ ซึ่งในทางการแพทย์ การกรน อาจมีความสัมพันธ์กับความผิดปกติอย่างหนึ่ง ที่เรียกว่า ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ จากการอุดกั้น (OSA) ส่งผลให้ระดับออกชิเจนในร่างกายต่ำเป็นพัก ๆ ทำให้ตื่นบ่อย นอนพักผ่อนได้ไม่เต็มที่ หากเกิดขึ้นในเด็กอาจส่งผลต่อสุขภาพ อารมณ์และพฤติกรรม การเรียนรู้การเจริญเติบโต และอาจมีผลทำให้เป็นโรคความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจ

วิธีการสังเกตว่าลูกอาจมีภาวะหยุดหายใจจากการอุดกั้นหรือไม่

  • ซนมาก ไม่ตั้งใจเรียน สมาธิสั้น มีปัญหาการเรียนและพฤติกรรม
  • นอนกระสับกระส่าย นอนดิ้น มีเหงื่ออกมากขณะนอนหลับ
  • ปัสสาวะ รดที่นอนบ่อย ๆ
  • หายใจทางปากตลอดเวลา
  • กรนเสียงดังและกรนเป็นประจำ
  • กรนแล้วหยุดหายใจเป็นพัก ๆ หรือหายใจเฮือก หรือสะดุ้งตื่นบ่อย ๆ

หากมีอาการเหล่านี้ พ่อแม่หรือผู้ปกครองควรพาเด็กมาพบแพทย์ เพื่อหาสาเหตุและรักษา เพราะโดยมากกรนในเด็กสามารถรักษาได้ผลการรักษาค่อนข้างดี อย่าปล่อยให้เป็นภัยเรื้อรังต่อลูกน้อย

ข้อมูล ณ วันที่ 31 มกราคม 2565
ที่มา : อ. พญ.นทมณฑ์ ชรากธ
ฝ่ายโสต ศอ นาสิกวิทยา