มะเร็งหลังโพรงจมูก

มะเร็งหลังโพรงจมูก

เป็นหนึ่งในมะเร็งบริเวณศีรษะและคอที่พบบ่อยในประเทศไทย มีผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 1600 คนต่อปี ช่วงอายุที่พบบ่อยคือ
30-60 ปี และพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 3 เท่า
ความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งหลังโพรงจมูก
1.การติดเชื้อเรื้อรังของไวรัส EBV (Epstein-Barr Virus)
2.ความเสี่ยงทางพันธุกรรม
3.พฤติกรรมและสารก่อมะเร็ง เช่น การรับประทานปลาเค็ม ของหมักดองเป็นเวลานาน อาหารเหล่านี้อาจมีสารก่อมะเร็งที่ชื่อว่า ในโตรซามีน
4.การสูบบุหรี่

อาการที่ผู้ป่วยมักมาพบแพทย์

  • มีก้อนที่คอโต
  • มีอาการทางจมูก เช่น คัดแน่นจมูก มีเลือดปนในเสมหะหรือน้ำมูก
  • มีอาการหูอื้อ
  • มีอาการทางระบบประสาท เช่น หน้าชา มองเห็นภาพซ้อน

โดยอาการดังกล่าวมักเป็นเรื้อรัง และไม่ตอบสนองกับการรักษาเบื้องต้น

การรักษามะเร็งหลังโพรงจมูก

  1. การฉายรังสี เป็นการรักษาหลักของมะเร็งหลังโพรงจมูก
  2. การรักษาโดยการให้ยา ซึ่งอาจเป็นยาเคมีบำบัด ยามะเร็งแบบมุ่งเป้า หรือภูมิคุ้มกันบำบัด โดยการรักษาวิธีนี้จะเป็นการรักษาที่ให้ร่วมกับการฉายรังสี
  3. การผ่าตัด เป็นการรักษาในกรณีที่มะเร็งไม่ตอบสนองต่อการรักษาโดยการฉายรังสี

คำแนะนำ
มะร็งหลังโพรงจมูกเป็นมะเร็งที่ตอบสนองต่อการรักษาได้ดี ถ้าหากรักษาในระยะแรก เพราะฉะนั้นถ้ามีอาการที่สงสัย ควรมาพบแพทย์หู คอ จมูก เพื่อทำการตรวจรักษา

ข้อมูล ณ วันที่ 21 มีนาคม 2564
ที่มา :อ. นพ.วรวรรธน์ ระหว่างบ้าน