นั่งเล่นคอม-หลบแดด-ไม่ออกกำลังกาย เสี่ยงกระดูกพรุนยามแก่
ภาวะกระดูกพรุน เป็นภาวะที่มวลกระดูกลดลงมากกว่า 30% มวลกระดูกสูงสุดเป็นการสะสมมวลกระดูกมาตั้งแต่วัยเด็ก และสูงสุดที่อายุประมาณ 30 ปี หลังจากนั้นมวลกระดูกจะลดลงปีละ 0.5-1% และจะลดลงเร็วขึ้นในวัยหมดประจำเดือน ปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้สูญเสียมวลกระดูก ได้แก่ กรรมพันธุ์ การขาดแคลเซียม ขาดวิตามินดี ไม่ออกกำลังกาย สูบบุหรี่ ดื่มสุรา เป็นโรคเรื้อรังและโรครูห์มาตอยด์
ทุกวันนี้จะพบว่าเด็กเอาแต่เล่นเกม เล่นอินเทอร์เน็ต
อยู่แต่เฉพาะหน้าคอมพิวเตอร์ หรือหลบอยู่ในมุมใดมุมหนึ่งของบ้าน โดยไม่ได้รับแสงแดดที่เหมาะสม หากมีพฤติกรรมเช่นนี้ เมื่อสูงวัยขึ้นมีโอกาสเสี่ยงภาวะกระดูกพรุนสูงกว่ากลุ่มเด็กที่ได้วิ่งเล่น รับแสงแดด
การป้องกัน ภาวะกระดูกพรุนต้องทำตั้งแต่วัยเด็ก เด็กสามารถสร้างมวลกระดูกสูงสุดให้สูงได้ ด้วยการออกกำลังกาย ดื่มนม และ ได้รับแสงแดดเพื่อการสร้างวิตามินดี และทานอาหารให้ครบหมู่ เด็กควรออกกำลังกายแบบลงน้ำหนัก กลางแสงแดดทุกวัน วันละอย่างน้อย 45 นาที ได้รับอาหารที่มีแคลเซียม หรือดื่มนม การออกกำลังกายควรออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องจนถึงวัยผู้ใหญ่และวัยสูงอายุ โดยออกกำลังกายแบบลงน้ำหนัก วันละ 20-30 นาที กระดูกจะสูญเสียช้าที่สุด และไม่เกิดภาวะกระดูกพรุน
ข้อมูล ณ วันที่ 14 ตุลาคม 2563
ที่มา : รศ. นพ.พงศ์ศักดิ์ ยุกตะนันทน์