การรักษาความเจ็บปวดจาก มะเร็ง
โรคมะเร็งเป็นโรคที่มีอาการเจ็บปวดค่อนข้างรุนแรง โดยเฉพาะมะเร็งตับอ่อน ส่งผลให้ผู้ป่วยไม่สามารถนอนราบได้โดยการใช้ยาในกลุ่มมอร์ฟินเพื่อบรรเทาความปวดของผู้ป่วยในปริมาณมาก อาจส่งผลให้ผู้ป่วยเห็นภาพหลอนและไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างปกติได้
ชนิดของอาการปวด
- อาการปวดภายนอก มักเกิดตามการมีแผลที่ผิวหนังสามารถรักษาได้ตรงจุด เนื่องจากอาการที่บ่งบอกสามารถอธิบายได้ง่าย
- อาการปวดอวัยวะภายใน เกิดจากการที่มะเร็งลุกลามภายในช่องท้อง สมอง หรืออวัยวะต่าง ๆ อาการปวดจะแสดงออกเป็นปวดบีบ ปวดเกร็ง หรือปวดบริเวณอื่น ๆ ของร่างกาย ที่ไม่ใช่บริเวณที่เป็นสาเหตุ เช่น มะเร็งตับอ่อน ส่วนใหญ่ทำให้ปวดหลัง อาการปวด ประเภทนี้ต้องอาศัยแพทย์เฉพาะทางในการรักษาและวินิจฉัย
- อาการปวดระบบประสาท เกิดขึ้นเมื่อเส้นประสาทถูกลุกลามหรือทำร้ายด้วยมะเร็ง อาการปวดจะแสดงออกเป็นแสบร้อน ไฟฟ้าช็อต ชา การรักษาต้องใช้ยากลุ่มเฉพาะ โดยการใช้มอร์ฝืนมักจะได้ผลไม่ดี
การประเมินความเจ็บปวด 0 – 10
0 ไม่ปวดเลย
1-3 อาการเจ็บปวดที่ผู้ป่วยยังรับได้ มีอาการเครียด ไม่สบายตัวเล็กน้อย
4-7 อาการไม่สบายตัวรุนแรง เกิดความกังวล ใช้ชีวิตไม่สะดวก
8-10 อาการปวดที่สุดในชีวิต ต้องได้รับการรักษา
ความเจ็บปวดรักษาได้
เป้าหมายคือ เพิ่มคุณภาพชีวิต ลดอาการปวด และสามารถทำกิจวัตรตามสมควรได้โดยใช้ยาในกลุ่มมอร์ฝืนให้น้อยที่สุด เพื่อลดผลข้างเคียงของยา และทำหัตถการเพื่อการระงับปวดขั้นสูง เช่น การฉีดสารพิเศษไปยังเส้นประสาทรับความรู้สึกของอวัยวะต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ป่วยไม่สามารถรับความเจ็บปวดจากอวัยวะเหล่านั้น
คำแนะนำจากแพทย์
หากมีอาการเจ็บปวดทั้งแบบปวดภายนอก ปวดอวัยวะภายใน และปวดระบบประสาท ควรมาพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้อง
ข้อมูล ณ วันที่ 15 เมษายน 2564
ที่มา : อ. นพ.มาร์วิน เทพโสพรรณ