การฉีดวัคซีนสำหรับผู้ใหญ่ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19
เนื่องจากโรคไข้หวัดใหญ่และโรคปอดอักเสบเป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ที่มีอาการบางส่วนคล้ายกับโรคโควิด-19 อาจทำให้เกิดความสับสนในการวินิจฉัยโรค แม้วัคซีนทั้ง 2 ชนิด จะไม่สามารถป้องกันโรคโควิด-19 ได้แต่ช่วยลดโอกาสเกิดการติดเชื้อโรคร่วมกับโรคโควิด-19 ซึ่งจะมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนสูงขึ้น
วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ( Influenza vaccine)
- ป้องกันการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza virus)
- ควรฉีดวัคซีนเป็นประจำทุกปี ระยะเวลาที่เหมาะสม คือ ก่อนฤดูฝน (เดือนพฤษภาคม) และก่อนฤดูหนาว (เดือนตุลาคม)
วัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ (Pneumococcal vaccine)
- ป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส (Streptococcus pneumoniae) ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ และทำให้เกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ รวมถึงภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดได้
- ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ 2 ชนิด ได้แก่ วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส ชนิดคอนจูเกต (PCV 13) และ ชนิดโพลีแซคคาไรด์ (PPSV 23) แต่ไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนทั้ง 2 ชนิดพร้อมกัน
วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19
- เนื่องจากวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เป็นวัคซีนใหม่ ที่ยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการให้วัคซีนชนิดนี้ควบคู่กับวัคซีนอื่น ๆ จึงแนะนำให้เข้ารับวัคซีนโรคโควิด-19 ห่างจากวัคซีนอื่นเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2-4 สัปดาห์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของวัคซีน
- ข้อยกเว้นกรณีที่มีความจำเป็น เช่น เมื่อถูกสัตว์กัด สามารถฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องรอระยะเวลา เนื่องจากความเสี่ยงต่อโรคพิษสุนัขบ้ามีความสำคัญเช่นกัน
คำแนะนำ
การฉีดวัคซีนเป็นหนึ่งในมาตรการการป้องกันตนเองจากโรคติดเชื้อกรณีมีข้อสงสัย ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการฉีดวัคซีนทุกครั้ง
ข้อมูล ณ วันที่ 8 พฤษภาคม 2564
ที่มา : อ. พญ.สกุณี ภระกูลสุขสถิตย์