แนวทางการช่วยเหลือเด็กที่มีภาวะออทิซึม

แนวทางการช่วยเหลือเด็กที่มีภาวะออทิซึม

เด็กที่มีภาวะออทิซีม
ปัจจุบันเด็กที่มีการะออทิซึมมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งพ่อแม่หรือผู้ปกครองของเด็กกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มักมาปรึกษาแพทย์ด้วยปัญหาของการพูดช้าในช่วงอายุระหว่าง 2-3 ปี โดยอาการที่ปรากฎส่วนใหญ่ส่งผลให้เด็กกลุ่มนี้ มีพัฒนาการและการเรียนรู้ที่ล่าช้า ไม่สามารถเข้าเรียนได้เมื่อถึงอายุที่เหมาะสม

แนวทางการช่วยเหลือเด็กที่มีภาวะออทิซึม

1. การช่วยเหลือตั้งแต่แรกเริ่มเมื่อทราบปัญหา

  • ส่งเสริมการรับรู้ตัวเองโดยการเรียกชื่อเด็ก เพื่อให้เด็กตอบสนองต่อการเรียกชื่อทุกครั้ง
  • ส่งเสริมทักษะการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม โดยเริ่มจากบุคคลใกล้ชิดหรือคุ้นเคยก่อน
  • ส่งเสริมทักษะทางภาษา ในระยะแรกที่เด็กยังไม่พูดสื่อสารให้เริ่มจากการฟังและทำตามคำสั่ง ใช้คำสั่งที่สั้น ง่าย ชัดเจน ถ้าเด็กไม่ทำตามคำสั่ง ให้จับมือทำทุกขั้นตอนของคำสั่ง
  • ใช้เทคนิคปรับพฤติกรรมที่เหมาะสมกับเด็ก เช่น พูดชมทันทีที่เด็กทำพฤติกรรมที่เหมาะสม เพื่อให้เด็กมีพฤติกรรมที่ดีขึ้น แต่หากเด็กทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมแต่ไม่รุนแรง ก็ควรเพิกเฉยไม่สนใจหรือหาสิ่งอื่นให้ทำแทน และหากต้องการให้เด็กมีพฤติกรรมใหม่ที่เหมาะสมก็ควรสร้างต้นแบบที่ดีให้กับเด็ก
  • ลดสิ่งเร้าที่รบกวนหรือขัดขวางการเรียนรู้ของเด็ก

2. จัดสภาพแวดล้อมรอบตัวเด็กให้เป็นระเบียบ และลดสิ่งกระตุ้นเร้าที่อยู่รอบตัวเด็กมากเกินไป เช่น จัดห้องที่ใช้ฝึกเด็กให้เงียบสงบ เพื่อช่วยให้เด็กมีสมาธิในการเรียนรู้มากขึ้น

3. จัดตารางเวลาในการฝึก ซึ่งจะช่วยทำให้เด็กเข้าใจและเรียนรู้ได้ง่ายควรเลือกกิจกรรมที่เด็กสนใจ สลับกับการทำกิจกรรมเป้าหมายที่ต้องการฝึก โดยใช้ระยะเวลาสั้น ๆ ในการทำกิจกรรม และค่อยๆเพิ่มเวลาการทำกิจกรรมมากขึ้นตามลำดับ

เผยแพร่เนื่องในวันออทิสติกโลก (วันที่ 2 เมษายน 2564)
ที่มา : อ. พญ.พร ไตรรัตน์วรกุล และ ดร.ประภาศรี นันท์นฤมิตร