ภาวะเบ้าตาอักเสบเสี่ยงสูญเสียการมองเห็น

ภาวะเบ้าตาอักเสบเสี่ยงสูญเสียการมองเห็น

เบ้าตา คือ ช่องว่างภายในกะโหลกศีรษะและเป็นที่อยู่ของลูกตา ซึ่งถูกโอบล้อมด้วยกล้ามเนื้อที่ทำให้ลูกตาเคลื่อนไหวไปมาได้ มีเนื้อเยื่อที่ห่อหุ้ม มีไขมันทำหน้าที่เป็นเหมือนเบาะรองรับลูกตามีเส้นเลือดและเส้นประสาทที่เลี้ยงเนื้อเยื่อดวงตาให้ทำหน้าที่ได้ตามปกติ

อาการของภาวะเบ้าตาอักเสบ

  1. ปวดบริเวณเบ้าตา รอบดวงตาหรือปวดลึกภายในเบ้าตา
  2. ปวดเมื่อกลอกตาไปมา
  3. หนังตาบวม แดง กดเจ็บ
  4. ตาโปนยื่นออกมาให้เห็นได้ชัดเจน
  5. เห็นภาพซ้อนหรือเห็นภาพเป็นสองภาพ
  6. การรับรู้สึผิดปกติไปหรือมีการมองเห็นที่แย่ลง

สาเหตุของภาวะเบ้าตาอักเสบ

  1. การติดเชื้อโรค เช่น เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา พยาธิบางชนิด
  2. การอักเสบที่ปราศจากเชื้อโรคซึ่งอาจสัมพันธ์กับโรคทางร่างกายต่าง ๆ เช่น โรคไทรอยด์เป็นพิษโรค SLE โรคเส้นเลือดอักเสบ
  3. มะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งน้ำเหลือง (Lymphoma)

การดูแลรักษาภาวะเบ้าตาอักเสบ

  1. กรณีที่เป็นการติดเชื้อจากเชื้อแบคทีเรียหรือ เชื้อรา รักษาด้วยการให้ยาต้านเชื้อโรคและติดตามการรักษาจนกว่าจะหาย
  2. กรณีที่การอักเสบที่ไม่สามารถหาสาเหตุได้ รักษด้วยการให้ยาต้านการอักเสบและติดตามดูอาการเป็นระยะ

คำแนะนำจากแพทย์

ความรุนแรงของโรคขึ้นอยู่กับสาเหตุ ถ้าอาการรุนแรงมากอาจทำให้สูญเสียการมองเห็นได้ ดังนั้น หากสงสัยว่าอาการที่เป็นอาจเป็นภาวะเข้าตาอักเสบ ควรปรึกษาจักษแพทย์โดยเร็ว และไม่ควรปล่อยทิ้งไว้นานจนสายเกินไป

ข้อมูล ณ วันที่ 3 เมษายน 2564
ที่มา : รศ. นพ.ศุภพงศ์ ดิรคุณวิชชะ