ประวัติความเป็นมา

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สร้างขึ้นโดยพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์มีพระประสงค์ ที่จะทรงบำเพ็ญพระราชกุศล พร้อมด้วยพระราชภาดา และภคินี สนองพระเดชพระคุณ สมเด็จพระบรมชนกนาถ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วย…

เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าหลวง ทรงพระชนม์อยู่นั้น ได้ทรงพระราชดำริ จัดตั้งสภากาชาด ซึ่งเรียกกันในเวลานั้นว่า สภาอุณาโลมแดง ขึ้นไว้สำหรับ การรักษาพยาบาล เจ็บไข้ได้ป่วย ตามคติของนานาชาติที่เจริญแล้ว แต่การสภากาชาดไทย ยังไม่แล้วเสร็จบริบูรณ์ ถ้าจะทรงบริจาคทรัพย์ สร้างโรงพยาบาลสภากาชาดขึ้น ก็จะเป็นพระกุศลอันประกอบ ด้วยถาวรประโยชน์ อนุโลมตามพระราชประสงค์ ของสมเด็จพระบรมชนกนาถ และเป็นเกียรติ แก่ราชอาณาจักร เมื่อทรงพระดำริเห็นพ้องกัน บรรดาพระราชโอรส พระธิดา ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงบริจาคทรัพย์ร่วมกันสมทบ กับทุนของสภากาชาด สร้างโรงพยาบาลขึ้น และทรงโปรดให้พระราชทานนาม ตามพระปรมาภิไธยสมเด็จพระบรมชนกนาถว่า “โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์” เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดโรงพยาบาล เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พุทธศักราช 2457 ตามแจ้งความของสภากาชาด เมื่อ 1 พฤษภาคม 2457 ได้กำหนดจุดมุ่งหมาย ให้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นโรงพยาบาลที่ดีจริง ต้องตามวิทยาศาสตร์แผ่พระเกียรติในพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กับทั้งแพร่เกียรติยศของชาติไทย บริการรักษาพยาบาล ช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐบาล ให้บริการรักษาพยาบาลผู้บาดเจ็บ และผู้ป่วยไข้ทั้งในยามสงคราม และยามปกติ โดยยึดมั่นในปณิธานอันแน่วแน่ ที่จะให้ความช่วยเหลือผู้บาดเจ็บทั่วไป โดยไม่เลือกชาติ ชั้น วรรณะ ลัทธิ ศาสนา หรือ ความคิดเห็นทางการเมือง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้ให้บริการทางการแพทย์ พยาบาล ตลอดจนการนำเทคโนโลยีทางการแพทย์ และวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัย รวมทั้งระบบคอมพิวเตอร์ มาใช้ในการรักษาพยาบาล มีการค้นคว้าวิจัย พัฒนาการรักษา และพัฒนาบุคลากรทุกระดับอย่างต่อเนื่อง ทำให้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก ในด้านการรักษาพยาบาล ทั้งนี้ด้วยการประสานงานกันเป็นอย่างดีระหว่าง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย