การนอนกรนในเด็ก (SNORING CHILDREN)
ลูกของคุณนอนกรนหรือไม่?
จากการศึกษาพบว่า 20%ของเด็กมีอาการนอนกรน7-10% มีอาการนอนกรนทุกคืนเด็กหลายรายที่นอนกรนนั้นมีสุขภาพดีแต่ประมาณ 2% พบว่ามีปัญหาในขณะหลับและมีปัญหาในการหายใจสำหรับผู้ปกครองควรเฝ้าระวังว่าลูกของคุณมีอาการนอนหลับและกรนอย่างไรถ้าสงสัยว่ามีปัญหา หรือบางอย่างที่ต่างจากปกติคุณควรจะปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคจากการนอนหลับ
เด็กที่มีการหายใจลำบากขณะนอนกรนอาจมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (Obstructive Sleep Apnea Syndrome :OSAS) ซึ่งอาจมีอาการหายใจเสียงดัง หายใจหอบสะดุ้งสำลักและผู้ปกครองสังเกตเห็นว่าเวลาหายใจเข้าแล้วหน้าอกบุ๋มโดยการอุดกั้นของทางเดินหายใจมักเกิดจากช่องคอที่แคบลงและปิดในระหว่างหลับ
เราจะทราบได้อย่างไรว่าอาการกรนของลูกเป็นชนิดรุนแรง?
ผู้เชี่ยวชาญโรคจากการนอนหลับได้กล่าวไว้ว่าการนอนกรนธรรมดาอาจสัมพันธ์กับภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นการนอนกรนธรรมดา(primary snoring) นั้นถือว่าเป็นปกติและไม่เป็นอันตรายต่อเด็กอย่างไรก็ตามภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นเป็นภาวะที่อันตรายมากสำหรับเด็กที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นอาจจะนอนหลับยากและมีปัญหาด้านพฤติกรรมถ้าไม่ได้รับการวินิจฉัยอาจทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการเรียนการเจริญเติบโตและโรคหัวใจได้เนื่องจากมีภาวะขาดอ็อกซิเจนทั้งเด็กผู้ชายและผู้หญิงสามารถเป็นโรคหยุดหายใจขณะหลับชนิดอุดกั้นได้
อาการที่พบได้ทั่วไปในเด็กมีดังต่อไปนี้
- การนอนหลับในท่าทางที่ผิดปกติ
- กรนเสียงดังและกรนเป็นประจำ
- สังเกตเห็นว่าหยุดหายใจขณะหลับในระยะเวลาสั้นๆตามด้วยเสียงกรนหายใจหอบหรือตื่นระหว่างกลางคืน
- เหงื่อออกมากขณะหลับ
- มีปัญหาในการเรียนและพฤติกรรม
- นอนกระสับกระส่าย
- ปลุกตื่นยากหลังตื่นนอนอยากนอนหลับต่อ
- ปวดศีรษะในระหว่างวัน หรือ ปวดศีรษะหลังตื่นนอน
- อารมณ์หงุดหงิดง่าย โมโหง่าย
- หลับขณะเรียนหนังสือ
- สมาธิสั้นและซนกว่าปกติ (Attention Deficit Hyperactivity Disorder: ADHD)
- ปัสสาวะรดที่นอน (enuresis)
อาการบางอย่างจะคล้ายกับอาการของเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น (ADHD) เช่น ไม่มีสมาธิ ซนกว่าปกติหงุดหงิดง่าย เด็กบางรายพลาดการวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมาธิสั้นจนกว่าจะมีปัญหาจากภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นจึงจะพบว่ามีอาการของโรคสมาธิสั้นด้วย ซึ่งภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นนี้อาจเกิดขึ้นร่วมกับโรคสมาธิสั้นได้ และทำให้อาการของโรคสมาธิสั้นแย่ลง ถ้าหากคุณสังเกตว่าลูกของคุณมีอาการดังกล่าวข้างต้น คุณควรปรึกษากุมารแพทย์และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคจากการนอนหลับ
เกิดอะไรขึ้นเมื่อลูกของคุณหยุดหายใจ?
ในขณะหลับกล้ามเนื้อจะหย่อนตัวมากกว่าตอนตื่น รวมทั้งกล้ามเนื้อที่ใช้ในการหายใจด้วยในเด็กที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นกล้ามเนื้อจะหย่อนตัวมาก ทำให้ช่องคอแคบมากกว่าปกติ จนกระทั่งช่องคอปิด เด็กจะพยายามหายใจคุณอาจได้ยินเด็กหายใจเฮือกเสียงดังเมื่อเด็กเริ่มกลับมาหายใจอีกครั้ง และการหายใจลักษณะนี้อาจกระตุ้นเด็กให้ตื่นเป็นช่วงสั้นๆได้
มีหลายปัจจัยที่ทำให้ช่องคอแคบซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นในเด็ก ได้แก่ ต่อมทอนซิลและต่อมอะดินอยด์โต หรือลักษณะโครงสร้างของใบหน้าและคางที่ผิดปกติ
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นมักพบในเด็กกลุ่มอาการดาวน์ (Down’s syndrome) และความผิดปกติแต่กำเนิดอื่นๆ ที่มีผลต่อการทำงานของระบบประสาท หรือลักษณะโครงสร้างของใบหน้า
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ เช่น เชื้อชาติแอฟริกันอเมริกัน โรคอ้วน คลอดก่อนกำหนด และมีสมาชิกในครอบครัวที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น
โรคภูมิแพ้และอาการคัดแน่นจมูกอาจเป็นสาเหตุของการนอนกรน แต่มักไม่ค่อยเป็นสาเหตุหลักของการเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น
จะทราบได้อย่างไรว่าลูกมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นหรือไม่?
คุณควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคจากการนอนหลับ เพื่อวินิจฉัยว่ามีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นหรือไม่ ผู้เชี่ยวชาญอาจแนะนำให้ตรวจการนอนหลับ (polysomnography)ซึ่งเป็นวิธีที่ช่วยบอกว่ามีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นหรือไม่ หรือ เป็นเพียงนอนกรนธรรมดา
การตรวจการนอนหลับเป็นการตรวจในช่วงกลางคืน ขณะที่ผู้ป่วยหลับ จะมีการติดอุปกรณ์ไปบนศีรษะและลำตัวผู้ป่วยเพื่อติดตามดูลักษณะการนอนหลับตลอดทั้งคืน โดยการตรวจจะดูลักษณะของคลื่นสมอง การเคลื่อนไหวของแขนขา การทำงานของกล้ามเนื้อ การทำงานของหัวใจ และการหายใจ การตรวจนี้ไม่ทำให้เกิดอันตราย และไม่ทำให้เด็กเจ็บ โดยในระหว่างการตรวจผู้ปกครองควรจะอยู่กับเด็กตลอดทั้งคืน
การตรวจนอกจากจะบอกว่ามีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นหรือนอนกรนธรรมดา ยังช่วยบอกความรุนแรงของภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นได้ ซึ่งจะช่วยให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคจากการนอนหลับพิจารณาแนวทางการรักษาที่เหมาะสมได้
แนวทางการรักษา
การผ่าตัดผู้ป่วยเด็กส่วนมากมีต่อมทอนซิลและต่อมอะดินอยด์โตซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นในเด็ก โดยแพทย์จะแนะนำให้ผ่าตัดเอาต่อมทอนซิลและต่อมอะดินอยด์ออกการผ่าตัดนี้เรียกว่า “Adenotonsillectomy” สำหรับการผ่าตัดแบบอื่นอาจแนะนำในผู้ป่วยที่เกิดจากความผิดปกติของโครงสร้างศีรษะและใบหน้า
บางครั้งการผ่าตัดสามารถทำให้หยุดนอนกรนได้ แต่อาจไม่หายขาดจากภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นการตรวจการนอนหลับหลังการผ่าตัดอาจจำเป็นเพื่อให้แน่ใจว่าภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นยังมีอยู่หรือไม่
การรักษาวิธีอื่น การรักษาด้วยเครื่องอัดอากาศชนิดแรงดันบวกชนิดต่อเนื่อง(Continuous Positive Airway Pressure: CPAP) เป็นหน้ากากอันเล็กครอบบริเวณจมูกในระหว่างการนอนหลับ หน้ากากนี้จะให้แรงดันอากาศ เพื่อประคับประคองไม่ให้ทางเดินหายใจส่วนบนปิดในขณะหลับ การรักษาวิธีนี้จะมีประโยชน์ในผู้ป่วยเด็กที่รักษาโดยการผ่าตัดไม่ได้ หรือ เมื่อรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดแล้วไม่หาย
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่นในเด็กที่มีโรคอ้วน ผู้เชี่ยวชาญอาจแนะนำให้ลดน้ำหนัก โดยการควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย และโปรแกรมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ถึงแม้จะรักษาด้วยวิธีอื่นแต่การลดน้ำหนักในผู้ป่วยเด็กที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐานควรเป็นเป้าหมายระยะยาวในการรักษา
บทความโดยคณะแพทย์ศูนย์นิทราเวช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
(ดัดแปลงจากบทความของสมาคมแพทย์โรคจากการหลับแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา)