โรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (OBSTRUCTIVE SLEEP APNEA: OSA)
คุณกรนหรือไม่?
เสียงกรนบ่งบอกถึงทางเดินหายใจส่วนบนได้แก่บริเวณลำคอนั้นแคบกว่าปกติ เสียงกรนจึงเกิดจากการพยายามออกแรงหายใจเข้าผ่านทางเดินหายใจที่แคบนั่นเอง พบว่าประมาณ 10-30% ของผู้ใหญ่มีการกรน โดยการกรนส่วนใหญ่อาจไม่ได้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอื่นๆ ตามมา
อย่างไรก็ตาม เสียงกรนที่ดังถือว่าเป็นสัญญาณว่ามีสิ่งผิดปกติเกี่ยวกับการหายใจที่อาจเป็นอันตรายเกิดขึ้นระหว่างที่นอนหลับ ได้แก่ โรคนอนหยุดหายใจชนิดอุดกั้น (Obstructive Sleep Apnea: OSA)
โรคนอนหยุดหายใจชนิดอุดกั้น (Obstructive Sleep Apnea: OSA) คืออะไร?
ในขณะที่เรานอนหลับ กล้ามเนื้อที่คอยทำหน้าที่ตึงตัวและช่วยขยายทางเดินหายใจในช่องคอจะหย่อนตัวลง ซึ่งภาวะนี้เองทำให้ทางเดินหายใจแคบลง แต่ไม่ก่อให้เกิดปัญหาในเด็กหรือคนทั่วไป แต่ในผู้ป่วย OSA ทางเดินหายใจจะตีบแคบลงมาก ทำให้การหายใจลำบากขึ้น สมองจะรับรู้ภาวะนี้และสั่งการให้เพิ่มแรงในการหายใจ สิ่งนี้จะกระตุ้นให้สมองตื่นเพื่อกระตุ้นให้กล้ามเนื้อช่องคอกลับมาตึงตัวและเปิดทางเดินหายใจอีกครั้ง ซึ่งวงจรเหล่านี้จะเกิดขึ้นซ้ำๆ นับสิบหรือถึงร้อยครั้งในแต่ละคืน ทำให้รบกวนการนอนหลับและส่งผลให้สมองไม่ได้รับออกซิเจนเพียงพอขณะนอนหลับ
เมื่อไรที่ต้องสงสัยว่าจะเป็นโรค OSA?
1. เสียงกรนที่ดังแม้กระทั่งปิดประตูยังได้ยิน
2. ลักษณะของการกรนแล้วหยุดเป็นพักๆ ตามด้วยเหมือนอาการสำลักขณะนอนหลับ หรือมีผู้สังเกตเห็นว่ามีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ
3. ภาวะง่วงนอนผิดปกติ เช่น ขณะทำงานหรือหลับในขณะขับรถ
4. ไม่มีสมาธิ ขี้ลืม
5. ปวดศีรษะหลังตื่นนอนตอนเช้า
6. ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน
7. ความรู้สึกทางเพศลดลง
โรค OSA หากไม่รักษาจะเกิดผลเสียอย่างไร
1. ภาวะง่วงนอนผิดปกติ เช่น ขณะทำงานหรือหลับในขณะขับรถ ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุขณะทำงานที่ต้องใช้สมาธิหรืออุบัติเหตุบนท้องถนนได้
2. เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจขาดเลือดฉับพลัน โรคหัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมองอุดตัน โรคซึมเศร้า และโรคอื่นๆ ตามมาได้
โรค OSA มีแนวทางการวินิจฉัยและรักษาอย่างไรบ้าง
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะซักถามอาการต่างๆ ที่กล่าวไปข้างต้น และอาจพิจารณาส่งตรวจการนอนหลับ (Polysomnography) จำนวน 1-2 ครั้ง เพื่อประเมินว่าหากมีโรค OSA จริง จะมีความรุนแรงของโรคอยู่ในระดับใด (น้อย ปานกลาง รุนแรง) เพื่อหาแนวทางการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมแก่ผู้ป่วยต่อไป
แนวทางการรักษาผู้ป่วย OSA แบ่งเป็น
การรักษาเฉพาะโรค:
1. การใช้เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก (Positive Airway Pressure: PAP) ปัจจุบันถือว่าเป็นการรักษาหลักและเป็นการรักษาที่ได้ผลดีมากที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความรุนแรงปานกลางและรุนแรงมาก
2. การใส่อุปกรณ์ทางทันตกรรม เหมาะสำหรับกลุ่มที่รุนแรงน้อยหรือรุนแรงปานกลาง
3. การผ่าตัดแก้ไขทางเดินหายใจในส่วนต่างๆที่มีภาวะตีบแคบ เช่น การผ่าตัดต่อมทอลซิล (โดยเฉพาะในเด็ก) การผ่าตัดแก้ไขผนังกั้นจมูกคด/เพดานอ่อน/กระดูกกราม โดยผลของการผ่าตัดอาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล
การให้คำแนะนำทั่วไป:
ได้แก่ การลดน้ำหนัก การหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์และบุหรี่ ยานอนหลับต่างๆ การนอนตะแคง สิ่งเหล่านี้เป็นการรักษาเสริม เพื่อช่วยให้การรักษาผู้ป่วย OSA ได้ผลมากขึ้น
หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาโทรสอบถามศูนย์ตรวจการนอนหลับ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ตึกคัคณางค์ ชั้น 8 ที่หมายเลข 02-256-4963 ในวันและเวลาราชการ หรือ หากต้องการติดต่อนัดหมายเพื่อรับบริการตรวจ รักษาจากแพทย์ที่คลินิกเฉพาะทางด้านการนอนหลับ ทุกวันจันทร์ช่วงบ่ายเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ที่ตึก ภปร. ชั้น 10 เวลา13.00-16.00 น. สามารถมาติดต่อทำนัดด้วยตนเอง หรือโทรสอบถามที่หมายเลข 02-256-5223 ในวันและเวลาราชการ