ประวัติฝ่ายการพยาบาล

นับตั้งแต่ระยะสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ.2436) กุลสตรีไทยที่สูงศักดิ์ในเวลานั้นมีท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ เป็นหัวหน้าได้กราบบังคมทูลพระกรุณาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชเทวี (สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) ขอให้ทรงเป็นผฃชนนีผู้บำรุงการที่จะตั้งสภาการกุศล เพื่อช่วยทหารที่บาดเจ็บทั้งหลาย ดังความในสำเนาจดหมายกราบบังคมทูลพระกรุณาตอนหนึ่งว่า “จะชวนลงชื่อเรี่ยไรออกทรัพย์ตามแต่ศรัทธา ตั้งขึ้นเป็นสภาอุณาโลมแดงของชาติหญิงชาวสยามที่เป็นไทยขึ้น เพื่อที่จะได้รักษาพยาบาลสภาอุณาโลมแดงนี้จะไดรับเป็นหน้าที่รักษาพยาบาล โดยทางเกื้อหนุนออกทรัพย์ตามที่จะเรี่ยไรได้ จ้างผู้พยาบาลและจัดซื้อยาและสิ่งของที่ควรแก่การพยาบาลนั้นๆ”

เมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์และพระบรมราชานุญาตให้เรี่ยไรได้เงินจำนวนมหาศาล กับทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชเทวี (สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) เป็นสภานายิกาและท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ เป็นเลขานุการิณีสภาอุณาโลมแดงจุดนี้เองเป็นจุดเริ่มของพยาบาลสภากาชาดไทย

การดำเนินกิจการของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ในระยะแรกให้อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของกระทรวงกลาโหม เนื่องมาจากปัญหาทุนรอน ในระยะแรกโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์จึงต้องใช้นางผดุงครรภ์ประกาศนียบัตร จากโรงเรียนผดุงครรภ์ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถของโรงพยาบาลศิริราช สำหรับพยาบาลผู้เจ็บป่วยฝ่ายหญิง ส่วนผู้เจ็บป่วยฝ่ายชายได้ใช้บุรุษพยาบาล ซึ่งเป็นนายสิบพยาบาลและพลพยาบาลของกองพยาบาลทหารบกกลางเป็นผู้ดูแล

 

พร้อมกันนี้ได้รับกุลสตรีที่มีความรู้หนังสือไทยเข้าฝึกหัดเป็นผู้ช่วย ในระยะแรกมีนางพยาบาลผดุงครรภ์ 3 คน และหญิงอื่นที่มาขอฝึกวิชาชีพพยาบาลอีก 4 คน จึงเป็นจำนวนเพียงพอที่จะจัดตั้งโรงเรียนขึ้นได้ จึงได้มีการเปิดสอนวิชาชีพพยาบาลเป็นครั้งแรกในกรุงสยาม เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2457 ซึ่งเป็นโรงเรียนพยาบาลแห่งนี้ขึ้นกับแผนกศึกษา กองพยาบาลทหารบกกลาง มีร้อยโท ชื่น พุทธิแพทย์ เป็นหัวหน้าและเป็นผู้จัดการฝึกสอนอบรม โดยกำหนดหลักสูตรไว้ 1 ปี รับหญิงที่มีอายุระหว่าง 16 – 30 ปี พื้นความรู้ระดับประโยคมัธยม 1 หรือ 2 หรือเทียบเท่าในปีแรก มีผู้มาสมัครเข้าเรียนถึง 26 คน แต่มีผู้สอลไล้ได้ประกาศนียบัตรเพียง 4 คน และในปี พ.ศ.2458 มีผู้สอบไล้ได้เพียง 10 คน

ต่อมาประมาณเดือนเมษายน พ.ศ. 2459 การดำเนินกิจการของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ก็เริ่มเป็นอิสระโดยลำพังจากกระทรวงกลาโหม แต่ก็ยังคงทำการติดต่อกันอยู่คือ กระทรวงกลาโหมให้ยืมนายสิบพยาบาลมาทำการในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ งานโรงพยาบาลขณะนั้นแบ่งออกเป็น 5 แผนกคือ

  1. แผนกตรวจคนเจ็บไข้
  2. แผนกรักษาพยาบาล
  3. แผนกผ่าตัด
  4. แผนกบัคเตรี
  5. แผนกคลังยา

ต่อมาในปีพ.ศ. 2460 กระทรวงกลาโหมได้จัดตั้งโรงเรียนการแพทย์ทหารบกสำหรับฝึกอบรมแพทย์ของทหารบก แต่ขอฝากไว้ในความดูแลของสภากาชาดสยาม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์จึงได้ยุบแผนกศึกษาของพยาบาลทหารบกกลาง โรงเรียนการพยาบาลซึ่งเคยขึ้นแต่แผนกศึกษาได้ถูกโอนไปขึ้นกับแผนกรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มีนายร้อยเอกหลวงวรสุนทรโอสถ (เพี้ยน สิงหะชัย) เป็นหัวหน้าแผนกกับแบ่งกองย่อยออกเป็น 4 กอง แต่ละกองมีหัวหน้ากองรับผิดชอบ ตามหลักฐานที่พบในปี พ.ศ. 2462 ดังต่อไปนี้

  1. กองโรงเรียนพยาบาล หม่อมเจ้าหญิงมัณฑารพ กมลาศน์
  2. กองนางพยาบาล นางสอางค์ เนียมณรงค์
  3. กองบุรุษพยาบาล จ่านายสิบโก๋ โอบอ้อม
  4. กองผดุงครรภ์ น.ส.เล็ก