ผมหงอกก่อนวัย ทำไมอายุน้อยถึงเป็น ?
ผมหงอก เป็นภาวะความเสื่อมตามวัยรูปแบบหนึ่ง พบได้ในผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป ในรายที่พบมีผมหงอกก่อนอายุ 30 ปี ถือว่ามีภาวะ “ผมหงอกก่อนวัย”
สาเหตุหลักของผมหงอกก่อนวัย คือ พันธุกรรม
อาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ได้แก่
- ความเครียด
- นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ
- การขาดแร่ธาตุและวิตามินบางชนิด
- มลภาวะทางอากาศ
- การสูบบุหรี่
- โรคด่างขาว โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง โรคไทรอยด์
ป้องกันภาวะผมหงอกก่อนวัยได้อย่างไรบ้าง ?
- รับประทานอาหารที่มีแร่ธาตุต่างๆ ดังนี้ สารต้านอนุมูลอิสระ วิตามินบี 12 โอเมก้า 3 ธาตุเหล็ก ทองแดง และสังกะสี ซึ่งพบได้ในอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ เนื้อปลา ตับ ไข่ นมไขมันต่ำ ผักใบเขียว ถั่ว และธัญพืชต่าง ๆ
- งดสูบบุหรี่ เพื่อลดความเสียหายต่อเซลล์สร้างเม็ดสีในรากผม
การถอนผมหงอก ทำให้หงอกเพิ่มขึ้นจริงหรือ ?
ไม่จริง เมื่อถอนผมหงอกออก ผมที่ขึ้นมาใหม่ในตำแหน่งนั้นก็จะหงอกเหมือนเดิม แต่จะไม่ลุกลามหรือกระตุ้นให้เส้นผมบริเวณใกล้เคียงหงอกตามไปด้วย
การถอนผมหงอกบ่อย ๆ ทำให้ผมไม่ขึ้นจริงหรือ ?
จริง โดยทั่วไปแล้ว เส้นผมมีวงจรชีวิต 15 – 20 ครั้ง ซึ่งหากถอนผมเส้นเดิมออกบ่อย ๆ อาจทำให้เซลล์สร้างรากผมหมดไป และไม่สร้างรากผมขึ้นมาใหม่ เกิดเป็นภาวะผมบางหรือศีรษะล้านได้
ข้อมูลโดย : รศ.ดร.พญ.ธัชต์ธร ปัญจประทีป
ศูนย์โรคเส้นผมและหนังศีรษะ
ข้อมูล ณ วันที่ : 11 กันยายน 2567