วัคซีนโควิด-19 สำหรับผู้ป่วยเด็ก

วัคซีนโควิด-19 สำหรับผู้ป่วยเด็ก
  • ในเดือนกรกฎาคม และสิงหาคม 2564 พบว่ามีเด็กป่วยด้วยโรคโควิด-19 เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนใหญ่มีอาการน้อย อย่างไรก็ตาม มีผู้ป่วยเด็กส่วนหนึ่งมีภาวะปอดอักเสบร่วมด้วย
  • ขณะนี้มีวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชนิด mRNA เท่านั้นที่ได้รับการรับรองให้ใช้ในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป และกำลังมีการศึกษาวัคซีนชนิดอื่นเพิ่มเติมในเด็กกลุ่มอายุต่างๆ
  • ปัจจุบันราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประทศไทย แนะนำให้ฉีดวัคซีนในผู้ป่วยเด็กที่มีความเสี่ยงต่อโรคโควิด-19 ชนิดรุนแรง ซึ่งคือเด็กที่มีโรคประจำตัว ดังนี้
    1. โรคอ้วน (ดัชนีมวลกายมากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร หรือ
      มีน้ำหนัก 70 กิโลกรัมขึ้นไปในเด็กอายุ 12 ถึง 13 ปี
      มีน้ำหนัก 80 กิโลกรัมขึ้นไปในเด็กอายุ 13 ถึง 15 ปี
      มีน้ำหนัก 90 กิโลกรัมขึ้นไปในเด็กอายุ 15 ถึง 18 ปี
      หรือเด็กอ้วนที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากภาวะทางเดินหายใจอุดกั้น)
    2. โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง รวมทั้งโรคหอบหืดที่มีอาการปานกลางหรือรุนแรง
    3. โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง
    4. โรคไตวายเรื้อรัง
    5. โรคมะเร็งและภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ
    6. โรคเบาหวาน
    7. กลุ่มโรคพันธุกรรม รวมทั้งกลุ่มอาการดาวน์ เด็กที่มีภาวะบกพร่องทางระบบประสาทอย่างรุนแรง เด็กที่มีพัฒนาการช้า
  • ส่วนเด็กกลุ่มอื่นๆ แนะนำรับวัคซีนเมื่อมีวัคซีนจำนวนมากขึ้นและมีข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพและความปลอดภัยเพิ่มมากขึ้น
  • วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป มีประสิทธิภาพและความปลอดภัย แต่อาจเกิดผลข้างเคียง เช่น ไข้ ปวดเมื่อยตามตัว ซึ่งสามารถหายได้เองภายใน 2-3 วัน อย่างไรก็ตาม หลังฉีดวัคซีนแล้วยังมีความจำเป็นต้องป้องกันการติดเชื้อด้วยวิธีอื่นๆ ร่วมด้วย ได้แก่ สวมหน้ากากอนามัยเว้นระยะห่าง ล้างมือให้สะอาดเป็นประจำ และงดเว้นเข้าที่แออัด

ที่มา
ศ. พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
อ. ดร. พญ.วรรษมน จันทร์เบญจกุล
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผศ. นพ.กำธร มาลาธรรม
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ข้อมูล ณ วันที่ 27 สิงหาคม 2564