ปริทันต์ โรคฟันที่อยู่ใกล้ตัว

ปริทันต์ โรคฟันที่อยู่ใกล้ตัว

🗣 โรคปริทันต์ คืออะไร
โรคปริทันต์ คือ โรคที่เกิดกับเนื้อเยื่อหรืออวัยวะรอบๆ ตัวฟัน ได้แก่ เหงือก เนื้อเยื่อปริทันต์ และกระดูกหุ้มรากฟัน
🗣 อาการ
มีอาการเหงือกอักเสบ ปวด บวม แดง มีเลือดออกง่าย บางครั้งอาจมีหนองไหลเมื่อใช้มือกด นอกจากนี้ยังทำให้กระดูกหุ้มรากฟันละลายและเหงือกร่น เกิดอาการฟันโยกและฟันล้ม หรือที่รู้จักกันว่า โรครำมะนาด เกิดจากสารพิษที่เป็นของเสียจากเชื้อจุลินทรีย์ถูกขับออกมาตามขอบเหงือก
🗣 ปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดโรค

  • หินน้ำลายหรือหินปูน ซึ่งเกิดจากการตกตะกอนของแคลเซียมและฟอสฟอรัสในน้ำลาย รวมกับแผ่นคราบจุลินทรีย์
  • ในผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวบางราย อาจมีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นโรคปริทันต์หรือโรคเหงือกด้วย อาทิ ผู้ป่วยที่รับประทานยากันชัก (โรคลมชัก) ผู้ป่วยที่ใช้ยากดภูมิ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน รวมทั้งผู้ป่วยโรคเลือดที่มีการติดเชื้อต่าง ๆ

🗣 การรักษา
1. การรักษาโรคเหงือกอักเสบในระยะแรก ทันตแพทย์จะกำจัดหินปูนออกให้หมดก่อน หลังจากนั้นผู้ป่วยก็จะต้อง ดูแลรักษาความสะอาดตามที่ทันตแพทย์แนะนำ ในบางรายอาจจำเป็นต้องถอนฟัน ทำศัลยกรรม ผ่าตัด แต่งเหงือก หรือใส่เหงือกปลอมปิดทับฟันเอาไว้
2. กรณีที่มีร่องเหงือกรอบฟันลึกมาก ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถทำความสะอาดได้ทั่วถึง เมื่อเกิดการสะสมของคราบอาหารก็เป็นเหตุให้เกิดการอักเสบของเหงือกได้อีก จำเป็นต้องทำการตัดแต่งเหงือก
3. กรณีที่มีการละลายกระดูกรอบรากฟันมาก ทันตแพทย์จะต้องใส่เครื่องมือยึดฟันซี่นั้นให้อยู่กับที่ มิฉะนั้นจะเจ็บเวลาเคี้ยวอาหาร และทำให้มีการละลายของกระดูกรอบรากฟันเกิดขึ้นต่อไปอีก

ข้อมูล ณ วันที่ 17 กันยายน 2563                                      
ที่มา : ทพญ.ชนิดา ว่องเดชากูล