กระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อม

กระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อม

เกิดจากความเสื่อม (Degenerative process) ของกระดูกสันหลัง การเคลื่อนไหวคอ หรือการอยู่ในอิริยาบถที่ต้องก้ม-เงยศีรษะหรือหันคอมากเกินไปเป็นเวลานาน พบได้บ่อยจากการทำงนที่ต้องกัมคออยู่เป็นประจำ และอาจพบร่วมกับภาวะหมอนรองกระดูกคอเสื่อม หรือภาวะปวดเมื่อยกล้ามเนื้อจากออฟฟิศซินโดรม

อาการ

  • ปวดคอ หรือปวดบริเวณบ่าและรอบสะบัก อาการมักจะสัมพันธ์กับอิริยาบถที่ต้องก้ม-เงยศีรษะ
  • หากระยะของโรคเป็นมากขึ้น อาจพบร่วมกับภาวะรากประสาทส่วนคอถูกกดทับ ซึ่งจะมีอาการปวดคอร้าวลงแขน มีอาการชาหรืออ่อนแรงของกล้ามเนื้อแขนหรือมือ

กระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อมกับการออกกำลังกาย

  • การออกกำลังกายเพื่อการรักษาโรค (Therapeutic Exercise) หากทำการออกกำลังกายอย่างถูกวิธี จะช่วยลดอาการปวดและสามารถฟื้นฟูสภาพการทำงานของกระดูกคอ ซึ่งส่วนใหญ่มักเน้นที่การยืดเหยียดกล้ามเนื้อ และการทำให้กล้ามเนื้อบริเวณคอแข็งแรง รวมถึงการปรับสรีระร่างกายให้ถูกต้อง ดังนั้น ควรได้รับคำแนะนำเบื้องต้นจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหรือนักกายภาพบำบัด
  • การออกกำลังกายทั่วไป หรือ การเล่นกีฬา สามารถทำได้ แต่ควรระมัดระวังการเคลื่อนไหวของคอในท่าก้ม-เงย หรือหันคอด้วยความเร็ว เพราะอาจเกิดการบาดเจ็บต่อกระดูกสันหลังส่วนคอ หรือกล้ามเนื้อคอ

คำแนะนำจากแพทย์

ภาวะกระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อม ควรได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อประเมินถึงระดับความรุนแรงและวางแผนการรักษาให้เหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย

ข้อมูล ณ วันที่ 12 พฤษภาคม 2564
ที่มา : อ. นพ.ภัทรพล ยศเนืองนิตย์