ทำความรู้จักโรคหลงลืมชั่วคราว
โรคหลงลืมชั่วคราว คืออะไร?
โรคหลงลืมชั่วคราว (Transient Global Amnesia, TGA) คือโรคที่ทำให้เกิดการสูญเสียความทรงจำ อย่างเฉียบพลันโดยความจำที่สูญเสียนั้น เป็นความจำ เกี่ยวกับ เวลา สถานที่ และรายละเอียด ของเหตุการณ์ที่ได้เกิดขึ้น ซึ่งเรียกว่าความจำชนิด อีพิโซดิก (Episodic memory) ขณะเกิดอาการนั้นผู้ป่วยมักมีลักษณะ กังวล รู้สึกงงว่าเกิดอะไรขึ้นและมักมีอาการถามซ้ำว่า เกิดเหตุการณ์นี้ ได้อย่างไร เกิดขึ้นเมื่อไรมาที่นี่ได้อย่างไร แต่ผู้ป่วยจะยังรู้สึกตัวดี ช่วยเหลือตัวเองได้และความจำชนิดอื่น ๆ ยังปรกติ โดยการสูญเสียความจำจากโรคนี้จะเป็นอาการชั่วคราว ซึ่งมักจะหายได้เองภายใน 24 ชั่วโมงโดยความจำที่เสียไปจะค่อย ๆ คืนกลับมา โรคหลงลืมชั่วคราวนั้นปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุ แต่พบว่า ผู้ที่เป็นโรคมักมีปัจจัยเสี่ยงบางอย่าง เช่น
- อายุ 50 – 80 ปี
- เป็นโรคไมเกรน
- เป็นโรคหัวใจ
- ออกกำลังกายอย่างหนัก
- มีความเครียดรุนแรง
อย่างไรก็ตาม อาการของโรคหลงลืมชั่วคราวนั้น ต้องได้รับการวินิจฉัยโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เนื่องจากมีโรคที่ให้อาการคล้ายกันได้ เช่น โรคหลอดเลือดสมองตีบชั่วคราว (Transient Ischemic Attack, TIA) โรคลมชัก โรคไมเกรน การได้รับอุบัติเหตุที่ศีรษะ หรือโรคทางจิตเวช ซึ่งโรคดังกล่าวต้องการการดูแลรักษาที่ต่างกันไป และอาจจะไม่หายเอง ดังนั้น หากเกิดอาการหลงลืมอย่างเฉียบพลัน ควรพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง
ข้อมูล ณ วันที่ 21 พฤษภาคม 2565
ที่มา : ผศ. ดร. นพ.ยุทธชัย ลิขิตเจริญ
หน่วยประสาทวิทยา ฝ่ายอายุรศาสตร์