แพทย์ไทยดำรงตำแหน่ง นายกสมาคมศัลยศาสตร์ด้วยกล้องแห่งเอเชีย ในรอบ 27 ปี

          สมาคมศัลยศาสตร์ด้วยกล้องแห่งเอเชีย (Endoscopic and Laparoscopic Surgeons of Asia: ELSA) ได้ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2535 มีประเทศสมาชิกเกือบ 100 ประเทศ ทั่วเอเชีย ทั้งยังเป็นสมาคมศัลยแพทย์ ด้วยกล้องส่องหนึ่งในสามที่ใหญ่ที่สุดในโลก เทียบเท่ากับสมาคมแห่งสหรัฐอเมริกาและยุโรป สมาคมฯ มีกิจกรรมมากมายเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนประเทศสมาชิก แลกเปลี่ยนประสบการณ์และองค์ความรู้ มีการประชุมวิชาการเป็นประจำทุกปีและมีการเลือกประธานสมาคมฯ ทุกๆ 2 ปี ซึ่งนายกสมาคมศัลยศาสตร์ด้วย กล้องแห่งเอเชียจากประเทศฟิลิปปินส์กำลังจะหมดวาระหน้าที่ลงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้

          ในปี พ.ศ.2562 ประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมวิชาการ 15th International Endoscopic and Laparoscopic Surgery Congress กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 21 – 23 พฤศจิกายน 2562  ที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2

          หลังจากเกิดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ.2539 และที่น่ายินดีไปกว่านั้น รศ.นพ.สุเทพ อุดมแสวงทรัพย์ อาจารย์ประจำ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานชมรมศัลยศาสตร์ไส้เลื่อนแห่งประเทศไทย ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมศัลยศาสตร์ด้วยกล้องแห่งเอเชีย (President of  the Endoscopic and Laparoscopic of Asia) นับเป็นครั้งแรกที่แพทย์ชาวไทยได้รับเกียรติให้ดำรงตำแหน่งสำคัญนี้ โดยเป็นครั้งแรกในรอบ 27 ปี

           รศ.นพ.สุเทพ กล่าวว่า ตนเองรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับความไว้วางใจจากประเทศสมาชิกสมาคมศัลยศาสตร์ด้วยกล้องแห่งเอเชีย ให้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมฯ และดีใจที่ประเทศไทยจะได้เป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมวิชาการดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีขีดความสามารถ ศักยภาพและองค์ความรู้ด้านการผ่าตัดแบบส่องกล้องจนเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ

           สำหรับเส้นทางที่กว่าจะมาถึงความสำเร็จในวันนี้ รศ.นพ.สุเทพ เล่าว่า มาจากผลงานที่สมาชิกสมาคม LEST  (Laparoscopic Endoscopic Surgeons of Thailand) ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2539 ต่างทุ่มเททำงานให้กับสมาคมศัลยศาสตร์ด้วยกล้องแห่งเอเชีย (ELSA) อย่างต่อเนื่องมากว่า 20 ปี ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินการเพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับโรงพยาบาลต่างๆในประเทศไทยและหลายๆ ประเทศในเอเชีย เช่น พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม อินโดนีเซีย บังคลาเทศ เนปาล อินเดีย และอุซเบกิสถาน เป็นต้น โดยมีเป้าประสงค์สำคัญคือเพื่อให้แพทย์ในแต่ละพื้นที่ในแต่ละประเทศสามารถพัฒนาพื้นที่ของตัวเองได้ต่อไปซึ่งผลลัพธ์ที่ตามมาจะนำไปสู่การเพิ่มศักยภาพและสร้างระบบผ่าตัดแบบส่องกล้องให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วทั้งประเทศและทวีปต่อไป

          จากการทำงานอย่างต่อเนื่องของเราส่งผลให้การผ่าตัดแบบส่องกล้องในประเทศไทยช่วง 10 ปี ที่ผ่านมามีการพัฒนาก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังสามารถก้าวขึ้นมาเป็นอีกหนึ่งประเทศผู้นำในระดับภูมิภาคและระดับโลกได้ ซึ่งก็คือความสำเร็จที่แพทย์หลายๆท่านช่วยกันสร้างและพัฒนาให้เกิดขึ้นนั่นเอง อย่างไรก็ดีหน้าที่ของสมาคมศัลยศาสตร์ด้วยกล้องแห่งเอเชียจะยังไม่หมดลงแต่เพียงเท่านี้ เราจะต้องเป็นผู้นำให้แพทย์และผู้เชี่ยวชาญในสาขานี้ร่วมเดินเคียงข้างกันไป เพื่อส่งต่อและมอบองค์ความรู้เรื่องการผ่าตัดส่องกล้องให้กระจายครอบคลุมทุกพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพทัดเทียมกับระดับสากล รศ.นพ.สุเทพ กล่าวถึงเป้าหมายและภาระหน้าที่ต่อจากนี้ในฐานะนายกสมาคมศัลยศาสตร์ด้วยกล้องแห่งเอเชียคนใหม่