แพทย์จุฬาฯ สร้างชื่อ ยกระดับผลงานวิจัยไทยสู่สายตาชาวโลก

คอลัมน์ Man of the Med ฉบับนี้ พลาดไม่ได้ที่จะนำทุกท่านมาร่วมแสดงความยินดีกับความสำเร็จของแพทย์จุฬาฯ คนเก่งผศ.ดร.นพ.อมรพันธุ์ เสรีมาศพันธุ์ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะนักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทยที่นำผลงานวิจัยของไทยไปสร้างชื่อเสียงในเวทีระดับโลกถึง 2 ผลงาน ได้แก่งานวิจัยผลิตภัณฑ์แผ่นแปะสลายไขมัน(Nano Lipo Fat Removal and Tightening Patch) ที่สามารถคว้ารางวัลเหรียญทองจากการประกวดในงาน Seoul International Invention Fair 2018 ณ ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี ระหว่างวันที่ 6 -9 ธันวาคม พ.ศ. 2561 และงานวิจัยผลิตภัณฑ์เซรั่มพื้นฟูผิวจากสารสกัดน้ำนมเหลือง (Bio Colostrum Repair Serum) ที่คว้ารางวัลเหรียญทองแดงจากงาน The 47th International Exhibition of Inventions Geneva ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ระหว่างวันที่ 10 – 14 เมษายน พ.ศ. 2562

งานวิจัยผลิตภัณฑ์แผ่นแปะสลายไขมัน (Nano Lipo Fat Removal and Tightening Patch) ผศ.ดร.นพ.อมรพันธุ์ กล่าวว่าเป็นการวิจัยภายใต้การดำเนินการของหน่วยวิจัยนาโนหางการแพทย์ (Nano Medicine Research Unit) ฝ่ายวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมทั้งได้รับความร่วมมือจาก ศ.ภญ.ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ ภาควิชาเภสัชกรรมปฏิบัติ คณะเภสัชศาสตร์จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย และ ผศ.ดร.โรจน์ฤทธิ์ โรจนธเนศ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยนำยาลดไขมันไปใส่ไว้ในรูปแบบนาโนเทคโนโลยีที่สามารถซึมผ่านผิวหนังได้ ทำให้ยาลดไขมั่นที่อยู่ในรูปแบบของยารับประทานเปลี่ยนเป็นยาชนิดแผ่นแปะ อาจกล่าวได้ว่าเป็นนวัตกรรม “ของเก่าในรูปแบบใหม่” ที่มีประสิทธิภาพเข้าไปสลายไขมันใต้ผิวหนังได้อย่างตรงจุด

ล่าสุด ผลิตภัณฑ์แผ่นแปะสลายไขมันได้รับรางวัลเหรียญทองจากการส่งเข้าประกวดในงาน Seoul Internationa Invention Fair 2018 ณ ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี ระหว่างวันที่ 6-9ธันวาคม พ.ศ. 2561 ซึ่งการพิจารณาข้องคณะกรรมการได้ใช้เกณฑ์ประเมินผลิตภัณฑ์ในแง่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่เกิดจากการวิจัยนานถึง 4ปี นับตั้งแต่การวิจัยระดับเซลล์ในหลอดทดลอง การศึกษาชีววิทยาของไขมันพบว่าไขมันแต่ละประเภททำงานไม่เหมือนกัน หรือทำให้มีความเสี่ยงต่อโรคต่างกัน จากนั้นจึงเก็บข้อมูลด้วยการทดลองในมนุษย์โดยให้อาสาสมัครทดลองใช้ผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่องนาน 2 สัปดาห์ ครั้งละไม่ต่ำกว่า 30 นาทีพบว่าผลิตภัณฑ์แผ่นแปะสลายไขมันสามารถลดไขมันใต้ผิวหนังได้อย่างมีนัยยะสำคัญทางสถิติ เมื่อเทียบกับไม่ใช้ พร้อมกันนั้นคณะกรรมการยังได้พิจารณาในแง่การตลาดที่ผลิตภัณฑ์เพื่อความงามกำลังได้รับความนิยมและเป็นที่สนใจอย่างมาก ซึ่งผลิตภัณฑ์แผ่นแปะสลายไขมันสามารถสร้างความแตกต่างด้วยการนำนาโนเทคโนโลยีเข้ามาช่วยนำส่งยาที่มีฤทธิ์สลายไขมันเข้าสู่ผิวหนังด้วยความสามารถในการขนส่งยาที่ดีของอนุภาคนาโนจะช่วยให้การออกฤทธิ์ของยามีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทำให้เกิดการสลายไขมันได้ยาวนานขึ้น อีกทั้งรูปแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นแผ่นแปะจะช่วยเพิ่มความสะดวกให้กับผู้ใช้ที่ไม่ต้องเสียเวลาในการหาหรือนวดอีกด้วย

ผศ.ดร.นพ.อมรพันธุ์ กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันผลิตภัณฑ์แผ่นแปะสลายไขมันถือเป็นนวัตกรรมเพื่อความงามเป็นหลัก แต่ในอนาคตตั้งใจที่จะวิจัยผลิตภัณฑ์ที่สามารถช่วยกำจัดไขมันชั้นลึกกว่าใต้ผิวหนังลงไปอีก เนื่องจากไขมันชั้นลึกนั้นเป็นตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดโรคของความชราและปัญหาทางสุขภาพของประชาชน รวมถึงการพัฒนาในกระบวนการเพื่อการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ การทดสอบเพื่อใช้เป็นยา และขึ้นทะเบียนเป็นยาที่สามารถใช้รักษาโรคให้กับผู้ป๊วยทั้งในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ในประเทศไทยและในระดับโลกต่อไป

สำหรับอีกหนึ่งผลงาน คือ งานวิจัยผลิตภัณฑ์เซรั่มฟื้นฟูผิวจากสารสกัดน้ำนมเหลือง (Bio Colostrum Repair Serum) มีจุดเริ่มตันมาจากนิสิตระดับปริญญาเอกของจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัยคนหนึ่งสนใจให้ ผศ.ดร.นพ.อมรพันธุ์ ทำการศึกษาวิจัยน้ำนมเหลืองของวัว (Colostrum) ในองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าน้ำนมเหลืองที่เป็นน้ำนมของแม่วัวภายในสัปดาห์แรกหลังคลอดนั้นเป็นน้ำนมที่มีคุณค่าทางอาหารสูง แต่เมื่อลูกวัวดื่มไม่หมด เกษตรกรก็จะต้องนำไปทิ้ง เนื่องจากน้ำนมมีสีเหลือง ขายไม่ได้ราคา ถือเป็นวัสดุทิ้งเปล่าทางการเกษตรที่มีปริมาณไม่น้อย

ผศ.ดร.นพ.อมรพันธุ์ จึงได้ทำการวิจัยจนพบว่า น้ำนมเหลืองมีคุณสมบัติช่วยเพิ่มคอลลาเจนลดอนุมูลอิสระ ลดความเป็นพิษและการตายของเชลล์ อีกทั้งยังมีเปปไทด์สายสั้น ที่ช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตได้สูงมาก ที่สำคัญคือประเทศไทยยังไม่มีการศึกษาวิจัยการพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากน้ำนมเหลืองมาก่อน ซึ่งหากทำสำเร็จก็จะเป็นการเพิ่มมูลค่าทางการเกษตรให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโดนมได้อย่างมหาศาล ซึ่งขณะนี้ผลิตภัณฑ์เซรั่มฟื้นฟูผิวจากสารสกัดน้ำนมเหลืองได้รับการจดสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว ผลสำเร็จดังกล่าวทำให้คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ลงนามในบันทึกความตกลง (MOU) ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ในการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์จากโคนม ซึ่งในอนาคตคาดว่าจะมีผลิตภัณฑ์อื่นๆ อีกมากมาย เช่น ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มยา อาหารเสริมเพื่อเพิ่มการเจริญเติบโต เป็นต้น นอกเหนือจากผลิตภัณฑ์เซรั่มฟื้นฟูผิวจากสารสกัดน้ำนมเหลืองที่ ผศ.ดร.นพ.อมรพันธุ์ เป็นผู้พัฒนาและดูแลผลิตภัณฑ์

นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์เซรั่มฟื้นฟูผิวากสารสกัดน้ำนมเหลืองยังสามารถคว้ารางวัลเหรียญทองแดงจากงาน The 47th International Exhibition of Inventions Geneva ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ระหว่างวันที่ 10 – 14 เมษายน พ.ศ. 2522 ซึ่งเป็นเวทีการประกวดผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมระดับนานาชาติที่สำคัญและมีผู้เข้าร่วมงานมากที่สุดในโลก อีกทั้งยังได้รับรางวัลพิเศษ จากสมาคมนักประดิษฐ์โปแลนด์ (Aรsociation of Polish Inventors and Rationalizers) แสดงให้เห็นว่านานาประเทศต่างก็ให้ความสนใจกับผลิตภัณฑ์ที่มาจากการวิจัยของประเทศไทยด้วยเช่นกัน

เมื่อสอบถามถึงเป้าหมายต่อไปของ ผศ.ดร.นพ.อมรพันธุ์ เปิดเผยว่า ต้องการศึกษาวิจัยองค์ความรู้เพื่อเปรียบเทียบคุณภาพระหว่างน้ำนมเหลืองในประเทศไทยกับน้ำนมเหลืองจากนิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นแหล่งจำหน่ายน้ำนมเหลืองที่ใหญ่ที่สุดของโลกและมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากน้ำนมเหลืองในเชิงพาณิชย์อย่างกว้างขวาง เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาต่อยอดงานวิจัยสำหรับเกษตรกร แพทย์ หรือผู้วิจัย ในประเทศไทยที่สนใจการพัฒนาผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องสำอาง ยา อาหารเสริมที่มีสารสกัดจากน้ำนมเหลือง ตลอดจนมีแนวคิดการยืดอายุโปรตีนในน้ำนมเหลือง

ผศ.ดร.นพ.อมรพันธุ์ กล่าวสรุปว่า รู้สึกภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้นำผลิตภัณฑ์ จากงานวิจัยฝีมือคนไทยไปชนะการประกวดในเวทีระดับนานาชาติ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความก้าวหน้าในการวิจัยของประเทศไทย ตลอดจนการสร้างนวัตกรรมให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล และที่สำคัญในฐานะหน่วยงานวิจัยของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถือว่าเป็นก้าวใหม่ของการวิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มหาวิทยาลัยได้เข้ามามีส่วนช่วยให้วงการอุตสาหกรรมภายในประเทศมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ใช้ได้ผลดี สามารถนำไปต่อยอด สร้างมูลค่าและสร้างประโยชน์ในหลากหลายรูปแบบได้