เหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา สาขาแพทยศาสตร์ ประจำปี 2561

เหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา เป็นเหรียญราชอิสริยาภรณ์สำหรับพระราชทานเป็นที่ระลึกเพื่อเป็นบำเหน็จแก่ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2425 เนื่องในโอกาสครบรอบการสถาปนากรุงเทพมหานครเป็นราชธานีครบ 100 ปี โดยนับเป็นครั้งแรกที่ผู้มีความรู้ความสามารถในศิลปวิทยาแขนงต่างๆ จะได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นพิเศษ อีกทั้งยังเป็นการสนองพระบรมราโชบายในการพัฒนาวิชาความรู้เพื่อปรับปรุงประเทศให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมนานาอารยประเทศ

สำหรับหลักเกณฑ์การพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลาเข็มศิลปวิทยานั้น จะมีหลักอันเข้มงวดต่างจากเครื่องราชอิสริยาภรณ์อื่นๆ คือ จะพระราชทานเฉพาะผู้มีฝีมืออย่างเอกอุ อันเป็นคุณประโยชน์ต่อแผ่นดินที่ไม่มีผู้ใดทำได้เสมอหรือดีกว่า และนับเป็นที่น่าภาคภูมิใจยิ่งที่ ศ.ดร.นพ.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร หัวหน้าภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา สาขาแพทยศาสตร์ ประจำปี พ.ศ. 2561

ศ.ดร.นพ.อภิวัฒน์ เล่าถึงชีวิตการทำงานว่า ได้เริ่มทำงานวิจัยมานานกว่า 30 ปี สำหรับผลงานที่ทeให้ได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลาเข็มศิลปวิทยา สาขาแพทยศาสตร์ ในครั้งนี้ล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับงานวิชาการทางการแพทย์ที่เป็นการค้นพบความรู้และแนวทางในการตรวจวินิจฉัย การรักษาโรค รวมถึงการป้องกันโรค ซึ่งเป็นผลงานที่มีประโยชน์อย่างยิ่งต่อสังคม โดยที่ตนเองนั้นเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอณูพันธุศาสตร์ (Molecular Genetics) เป็นการศึกษาเรื่องเกี่ยวกับพันธุกรรมระดับโมเลกุล หรือ ดีเอ็นเอ (DNA) มีผลงานวิจัยทางด้านการศึกษาอณูพันธุศาสตร์ของโรคมะเร็งหลังโพรงจมูก และสภาวะเหนือพันธุกรรม (Epigenetic) อันเป็นกลไกสำคัญของการเกิดโรคในมนุษย์สำหรับงานวิจัยแรกๆ ที่มีประโยชน์อย่างยิ่งซึ่งได้รับการตีพิมพ์ ในปี พ.ศ. 2541 คือการค้นพบดีเอ็นเอ (DNA) ของเชื้อไวรัส EBV (Epstein-Barr Virus) ในกระแสเลือดของผู้ป่วย ต่อมามีนักวิทยาศาสตร์ในต่างประเทศได้ศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมและพบว่า เมื่อทำการฉายแสงจะส่งผลให้เชื้อไวรัสดังกล่าวหายไปและให้ผลการรักษาที่ดีขึ้น ถือเป็นงานวิจัยที่สามารถนำไปต่อยอดการวินิจฉัยโรคในผู้ป่วยเพื่อติดตามการรักษาต่อไป

งานวิจัยชิ้นต่อมาเป็นการศึกษาสภาวะเหนือพันธุกรรม (Epigenetic)ได้รับการตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2547 และเป็นรายงานที่ได้รับการอ้างอิงมากกว่า300 ครั้ง งานวิจัยเกี่ยวข้องกับเกราะดีเอ็นเอ (DNA Methylation) ที่ทำหน้าที่ควบคมุ การทำงานของยีน ด้วยการปกป้องไม่ให้ดีเอ็นเอ (DNA) ถูกทำลายซึ่งการวิจัยชิ้นนี้ได้นำมาต่อยอดสู่งานวิจัยที่สำคัญคือ การค้นพบสภาวะเหนือพันธุกรรม หรือดีเอ็นเอ (DNA) ตัวใหม่ชื่อว่า “RIND-EDSB” หรือเรียกว่าข้อต่อ DNA อันเป็นต้นตอสำคัญของการเกิดกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง(Non-Communicable Diseases – NCDs) ได้แก่ โรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลสูง ความจำเสื่อม ความดันลูกตาสูง เป็นต้น ศ.ดร.นพ.อภิวัฒน์ อธิบายเพิ่มเติมด้วยว่า ข้อต่อ DNA ในสิ่งมีชีวิตจะลดลง เมื่อสิ่งมีชีวิตนั้นมีอายุมากขึ้น และการลดลงของข้อต่อ DNA นี้ จะส่งผลให้ดีเอ็นเอ (DNA) ถูกทำลาย ซึ่งการที่ดีเอ็นเอ (DNA) ถูกทำลายในมนุษย์นั้นมักพบในผู้ป่วยกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ในวัยชรา การค้นพบในครั้งนี้ถือเป็นการค้นพบกลไกของโรคที่เป็นปัญหาสำคัญของมนุษยชาติในปัจจุบัน

นอกจากนี้ ศ.ดร.นพ.อภิวัฒน์ ยังได้นำองค์ความรู้ดังกล่าวไปต่อยอดสร้างยาอายุวัฒนะมณีแดง (Rejuvenating DNA by Genomic Stability Molecules – REDGEMs) ซึ่งจะทำหน้าที่ช่วยเพิ่มข้อต่อ DNA เพื่อลดการถูกทำลายของดีเอ็นเอ (DNA) และช่วยให้เซลล์มีสุขภาพดีขึ้น ส่งผลให้ร่างกายเกิดการซ่อมแซมให้กลับมาเป็นปกติ จากผลการทดลองพบว่า หากผิวหนังมีแผล พุพอง เช่น แผลที่เกิดจากไฟไหม้ ก็สามารถกลับคืนส่สู ภาพปกติได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว นอกจากนี้ยังอาจจะสามารถรักษากลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs)ให้หายขาดได้ ส่งผลให้ความดันโลหิต คอเลสเตอรอล สมอง หัวใจ เส้นเลือดและกระดูกปกติ รวมถึงสามารถป้องกันมะเร็งได้อีกด้วย

จากผลงานการค้นพบสภาวะเหนือพันธุกรรม หรือดีเอ็นเอ (DNA) ตัวใหม่ และการสร้างยาอายุวัฒนะมณีแดงนี้ ถือเป็นองค์ความรู้ใหม่และเป็นสิ่งที่มีประโยชน์อย่างมหาศาลต่อมวลมนุษยชาติ ทั้งหมดนี้เป็นผลงานที่เกิดจากความทุ่มเทในการทำงานวิจัยและความมุ่งมั่นที่จะพิสูจน์ให้เห็นว่างานวิจัยนี้มีประโยชน์ จนได้รับการยอมรับเมื่อปี พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา รวมระยะเวลาในการค้นคว้าและพิสูจน์งานวิจัยมายาวนานถึงกว่า 20 ปี

เมื่อสอบถามถึงหลักการในการทำงาน ศ.ดร.นพ.อภิวัฒน์ กล่าวว่าได้ยึดถือปฏิบัติตามหลักการเศรษฐกิจพอเพียงมาตลอด นั่นคือทำงานด้วยความรัก ความเพียร ความใส่ใจและความเข้าใจ โดยต้องรู้จักเหตุผลด้วยการรู้และเข้าใจปัจจัยต่างๆ ในการทำงาน เช่น เข้าใจในลักษณะงานเข้าใจคนทำงาน เป็นต้น รวมถึงมีความพอเพียง สามารถบริหารจัดการปัจจัยต่างๆ ในการทำงานให้ประสานสอดคล้องเป็นหนึ่งเดียวกัน เพื่อให้การทำงานก้าวไปข้างหน้าได้เหมือนวงล้อที่หมุนได้อย่างราบรื่นไม่ติดขัด อีกทั้งต้องมีภูมิคุ้มกันในการทำงานด้วยการวัดผลและประเมินผลงานอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้สามารถปรับปรุงแก้ไขผลงานให้ดียิ่งขึ้นต่อไป

ศ.ดร.นพ.อภิวัฒน์ ได้ฝากเคล็ดลับวิธีในการทำงานวิจัยให้ประสบความสำเร็จว่า เราควรเห็นคุณค่าของสิ่งที่เราทำ คิดอยู่เสมอว่าสิ่งที่เราค้นคว้าวิจัยนั้นจะสร้างประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น ต้องไม่ท้อถอยและมีความมุ่งมั่นทุ่มเทแรงกายแรงใจที่จะทำให้สำเร็จ ที่สำคัญคือในการทำงานวิจัยเราไม่ควรจะทำเฉพาะสิ่งที่ตนเองทำได้เท่านั้น แต่ควรจะลองทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อนเพราะอาจจะนำไปสู่องค์ความรู้ใหม่และนวัตกรรมที่เกิดประโยชน์แก่สังคมโลกต่อไปได้

รางวัลเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา ประจำปี 2560 สาขาแพทยศาสตร์

เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2561 ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศ สำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา ประจําปี ๒๕๖๐ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา สาขาแพทยศาสตร์ ให้แก่ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา

ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ศาตราจารย์ ระดับ ๑๑ และดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการโรคทางสมอง ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลก          ด้านค้นคว้าและอบรมโรคติดเชื้อไวรัสสัตว์สู่คน และผู้อำนวยการศูนย์โรคอุบัติใหม่ สภากาชาดไทย ปฏิบัติงาน ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีผลงานที่สำคัญ ได้แก่

  • ผลงานวิจัยที่เป็นที่ยอมรับระดับนานาชาติ คือ จากองค์การอนามัยโลก ได้แก่ การพัฒนารูปแบบการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าหลังสัมผัสโรค ค้นพบสารก่อให้เกิดสมองอักเสบในวัคซีนจากสมองนำไปสู่การยุติการใช้วัคซีนจากสมองสัตว์ขององค์การอนามัยโลก และเสนอวิธีทดแทนด้วยการใช้วัคซีนที่ปลอดภัยโดยใช้การฉีดแบบประหยัดเข้าชั้นผิวหนัง รวมถึงงานทางด้านการวินิจฉัยพยาธิกำเนิดของโรค
  • งานวิจัยการศึกษาโรคสมองอักเสบทั้งที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสโดยเฉพาะจากเชื้อพิษสุนัขบ้าและสมองอักเสบจากภาวะแปรปรวนทางระบบภูมิคุ้มกันโรค และเชื้อไวรัสอื่นๆ
  • งานวิจัยการศึกษาสายพันธุ์ไวรัสพิษสุนัขบ้าในค้างคาว สุนัข และคนและ Nipah virus และLyssavirus ในค้างคาวในประเทศไทย
  • งานวิจัยยาฉีดทำหมันสุนัขเพศผู้โดยไม่ต้องผ่าตัดด้วยการฉีด Zinc Gluconate
  • การศึกษาโรคสมองอักเสบอุบัติใหม่ที่เกิดจากไวรัส Nipah ไวรัส MERSในค้างคาวไทย
  • สร้างแบบแผนในการตรวจวินิจฉัยโรคสมองอักเสบ และร่วมพัฒนาสร้างแผนที่สมองสุนัขและแผนที่สมองคนไทยร่วมกับ ศ.พญ.จิรพร เหล่าธรรมทัศน์ รพ.รามาธิบดี
  • ผลงานได้รับการตีพิมพ์ในวารสารแพทย์ชั้นนำของโลก เช่น New England Journal of Medicine, Lancet, Lancet Neurology, Lancet Infectious Diseases, Neurology, Journal of Infectious Diseases, Annals of Neurology, Clinical Infectious Diseases