เกมคลื่นสมอง คว้ารางวัลเหรียญทอง จากเวทีนานาชาติ ประเทศเกาหลี

เกมคลื่นสมอง ชะลออัลไซเมอร์ คือสิ่งประดิษฐ์ที่นำเอาแนวคิดเกี่ยวกับคลื่นสมองส่วนสมาธิมาต่อยอดเป็นเกม โดยมีการออกแบบสำหรับผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์และผู้สูงอายุที่ต้องการป้องกันการเกิดภาวะดังกล่าว ผลงานชิ้นนี้นับเป็นนวัตกรรมใหม่ที่จะเข้ามาเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำหรับชะลอการเกิดโรคอัลไซเมอร์ อีกทั้งยังเป็นนวัตกรรมที่จะนำมาใช้ ส่งเสริมการบริหารสมองในผู้สูงอายุทั่วไปด้วย

เกมคลื่นสมองผลงานเกมคลื่นสมองที่ใช้ในผู้สูงอายุนี้ได้รับความชื่นชมในระดับนานาชาติเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากปัญหาเรื่องคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุกำลังเป็นที่พูดถึงทั่วโลกผลงานชิ้นนี้เคยคว้ารางวัลเหรียญทองนวัตกรรมทางสมองระดับโลกมาแล้วในงานนิทรรศการประกวดสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ ครั้งที่ 44 (The 44th International Exhibitionof Invention of Geneva) เมื่อปี ค.ศ. 2016 ณ เมืองเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส และล่าสุดเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา เกมคลื่นสมองสามารถสร้างชื่อบนเวทีโลกอีกครั้งด้วยการคว้ารางวัลเหรียญทองจากการประกวดและจัดแสดงนิทรรศการในเวทีระดับนานาชาติประจำปี 2018 ณ กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ (2018 World Invention CreativityOlympics) ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมการประกวดนี้

รศ.พญ.โสฬพัทธ์ เหมรัญช์โรจน์ ผู้ช่วยคณบดี ฝ่ายนวัตกรรมการศึกษาและสารสนเทศ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในทีมคิดค้นเกมคลื่นสมองนี้กล่าวว่า เกมคลื่นสมองเกิดจากความร่วมมือของ 3 ฝ่าย ระหว่างศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิคส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ร่วมกับภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ที่มีความสามารถในการช่วยเพิ่มสมาธิจดจ่อและความจำช่วงปฏิบัติงาน รวมถึงประสิทธิภาพด้านการบริการจัดการของสมอง ซึ่งมีส่วนอย่างมากในการใช้ชีวิตอย่างสามารถพึ่งพิงตนเองได้

งานนวัตกรรมนี้เน้นนำมาใช้ในกลุ่มที่มี MCI (Mild Cognitive Impairment) คือเริ่มมีภาวะความรู้คิดบกพร่องเล็กน้อย ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงของโรคอัลไซเมอร์หรือโรคสมองเสื่อมที่มีสาเหตุมาจากการตายของเซลล์สมองส่วนความจำ ส่งผลให้สมรรถภาพในการทำงานของสมองลดลงตั้งแต่ความจำจนถึงส่วนอื่นๆ ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีปัญหาทั้งในด้านระบบความจำ ความเข้าใจ กระบวนการเรียบเรียงภาษาที่ติดขัด ทิศทางที่สับสนหรอื แม้แต่ประสิทธิภาพการทำงานที่ลดลงจนไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างเป็นปกติ และหากไม่ได้รับการป้องกันหรือรักษาอย่างเหมาะสมก็มีความเสี่ยงทำให้อาการเสื่อมของสมองยิ่งรุนแรงขึ้น

นอกจากเกมคลื่นสมองนี้แล้ว ครั้งนี้ทีมงานยังได้ส่งอีกหนึ่งผลงานคือ i-ExC Game(Interaction Exercise and Cognition Game) เป็นเกมออกกำลังกายที่ช่วยให้เกิดการบริหารร่างกายในจังหวะเดียวกับการใช้สมอง ซึ่งได้รับรางวัลเหรียญทองและ Best Presentation Award โดยนวัตกรรมนี้เน้นให้เกิดกระบวนการที่ทำให้สมองได้รับการกระตุ้นทั้งด้านปฏิกริยาตอบโต้ ความจำทางมิติสัมพันธ์และคิดวิเคราะห์ พร้อมกับการกระตุ้นให้ใช้กล้ามเนื้อบริหารร่างกายในเวลาเดียวกัน โดยมีงานวิจัยสนับสนุนว่าเมื่อมีการกระตุ้นทั้ง 2 อย่างในเวลาเดียวกัน จะยิ่งช่วยชะลอความเสื่อมของสมองอันเกิดจากกระบวนการชราได้ดีกว่ากระตุ้นอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทีละอย่าง ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับผู้สูงอายุทุกคน

นางสาวณัชณิชา เพ็ญศรีสิริกุล นักวิจัยเทคโนโลยีนวัตกรรมการแพทย์ สำหรับผู้สูงอายุ ทีมงานผู้ร่วมคิดค้น i-ExC Game กล่าวว่า ผู้ที่เหมาะสมจะใช้เกมนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้สูงอายุอย่างเดียวเท่านั้น ทุกคนทุกวัยจะเป็นใครก็ได้ที่ต้องการมีสมองดีในระยะยาว ร่างกายที่แข็งแรงและมีปฏิกริยาโต้ตอบที่ว่องไวก็สามารถใช้บริการได้

สำหรับการคว้ารางวัล 2 เหรียญทองและ Best Presentation Award จากการประกวดในครั้งนี้ สมาชิก 2 คนที่เป็นตัวแทนของทีมจาก Center of Technology for Cognitive Care in Elderly ศูนย์ความร่วมมือระหว่างคณะแพทยศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิคส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ กล่าวว่า รู้สึกดีใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นตัวแทนของประเทศไทยในเวทีระดับนานาชาติ อย่างไรก็ดีสำหรับพวกเราทีมที่คิดค้นงานนั้น ทุกคนมีความคิดเหมือนกันว่า ผลตอบแทนที่แท้จริงจากการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์เพียงได้เห็นรอยยิ้มที่มาจากความสุขในใจได้ช่วยให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นก็เป็นรางวัลอันทรงคุณค่าที่สุดแล้วดังที่ รศ.พญ.โสฬพัทธ์ กล่าวทิ้งท้าย “พอเราได้ยินผู้สูงอายุที่มาเล่นเกมที่นี่เป็นประจำบอกว่า สมาธิของตัวเองดีขึ้น ไปซื้อของที่ตลาดก็ไม่ต้องจดอะไรมากมายอ่านหนังสือก็มีสมาธิได้ยาวนานขึ้น สำหรับเราแล้วนี่คือความภูมิใจที่ยิ่งใหญ่ไม่น้อยกว่าเหรียญทองที่ได้รับมา”