รางวัล “แพทย์ดีเด่นของแพทยสมาคมฯ” ความภาคภูมิใจในการทำงาน

เกียรติยศหรือชื่อเสียงใดคงไม่ภาคภูมิใจเท่ารางวัลที่ได้มาจากความทุ่มเทในหน้าที่การทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและแวดวงวิชาการ ดังที่ศ.พญ.นิจศรี ชาญณรงค์ (สุวรรณเวลา) ได้รับการคัดเลือกจากแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้เป็นผู้รับ “รางวัลแพทย์ดีเด่นของแพทยสมาคมฯ” ด้านวิชาการ ประจำปี 2561 จากผลงานด้านโรคหลอดเลือดสมองซึ่ง ศ.พญ.นิจศรี ได้ศึกษาค้นคว้าและพัฒนาองค์ความรู้ในสาขาวิชานี้มาอย่างต่อเนื่อง นับเป็นเรื่องน่ายินดีและภาคภูมิใจยิ่งอีกครั้งของชาวแพทย์จุฬาฯ ที่ ศ.พญ.นิจศรี ได้สร้างชื่อเสียงให้กับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“รางวัลแพทย์ดีเด่นของแพทยสมาคมฯ” เป็นรางวัลที่แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ มอบเป็นประจำทุกปีให้แก่แพทย์ผู้มีผลงานดีเด่น ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์และด้วยความรับผิดชอบในหน้าที่โดยสม่ำเสมอ จำนวนทั้งสิ้น 5 รางวัล ดังนี้ รางวัลแพทย์ดีเด่นด้านบริหารรางวัลแพทย์ดีเด่นด้านบริการ รางวัลแพทย์ดีเด่นด้านวิชาการ รางวัลแพทย์ผู้อุทิศตนเพื่อสังคม และรางวัลสมเด็จพระวันรัต โดยในทุกๆ ปี สมาชิกของแพทยสมาคมฯ จะร่วมกันเสนอชื่อบุคคลผู้มีคุณสมบัติและผลงานที่โดดเด่นต่อคณะกรรมการแพทยสมาคมฯ เพื่อดำเนินการคัดเลือกแพทย์ดีเด่นที่ทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติในหลายๆ ด้าน ทั้งด้านการแพทย์สาธารณสุข ด้านการบริหาร ตลอดจนด้านวิชาการ เพื่อเป็นแบบอย่างและแรงบันดาลใจรวมทั้งเชิดชูเกียรติและผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสมาชิกแพทย์ต่อไป

ความสำเร็จจากการทำงานร่วมกันเป็นทีม

ในปี พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา ศ.พญ.นิจศรี ได้รับการเสนอชื่อและคัดเลือกให้เป็นแพทย์ดีเด่นด้านวิชาการ ประจำปี 2561 ศ.พญ.นิจศรี กล่าวว่า รางวัลและความสำเร็จที่ได้รับนี้ไม่ได้มาจากผลงานของตนเองแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น หากแต่เป็นความร่วมมือจากบุคลากรทุกคนทั้งคณะแพทยศาสตร ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา

สำหรับบทบาทการทำงานในปัจจุบัน ศ.พญ.นิจศรี อธิบายว่า ไม่ได้จำกัดเพียงแค่การคิดค้นและพัฒนาแนวทางในการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเท่านั้น แต่อีกหนึ่งบทบาทสำคัญคือการเป็นผู้ส่งต่อและถ่ายทอดองค์ความรู้ไปยังแพทย์ผู้สนใจ นักวิจัยด้านแพทยศาสตร์และบุคลากรทางสาธารณสุขที่จะสามารถนำไปต่อยอดได้ รวมถึงประชาชนทั่วไปที่ตระหนักถึงความรุนแรงและความสำคัญของโรคหลอดเลือดสมอง เพราะองค์ความรู้เหล่านี้จะไม่เกิดประโยชน์ได้เลย หากไม่มีผู้ใดตระหนักและเห็นความสำคัญของงานศึกษาวิจัย

นอกเหนือจากการศึกษาวิจัยด้านโรคหลอดเลือดสมองแล้ว ศ.พญ.นิจศรี ยังกล่าวด้วยว่า ฟันเฟืองสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนคือ การทำงานร่วมกันเป็นทีมของผู้ปฏิบัติงานทุกภาคส่วนที่ทำให้การดำเนินงานประสบความสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี นับตั้งแต่พยาบาลและเจ้าหน้าที่ผู้อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยที่คอยเก็บบันทึกข้อมูล ตลอดจนนักปฏิบัติการวิจัยและผู้ช่วยวิจัยที่ร่วมกันสังเกตและวิเคราะห์ผลร่วมกัน ภายใต้จุดมุ่งหมายของการทำงานที่มีร่วมกันในหน่วยงาน นั่นคือ การดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นไปพร้อมกับการพัฒนาแนวทางเพื่อป้องกันโรคต่อไป