รางวัล “ครูแพทย์แห่งชาติ” กับความเป็นครูในทุกบทบาท

ย้อนเวลากลับไปเมื่อกว่า 60 ปีก่อนที่ ศ.กิตติคุณ นพ.จรัส สุวรรณเวลา ได้ตั้งปณิธานแน่วแน่ที่จะนำความรู้และวิทยาการทางการแพทย์ด้านประสาทศัลยศาสตร์ที่ศึกษาจากต่างประเทศกลับมาช่วยเหลือประชาชนคนไทย ก่อนจะมองเห็นโอกาสในการขยายความช่วยเหลือออกไปในวงกว้างมากขึ้นด้วยการส่งต่อความรู้ที่ร่ำเรียนมาไปยังแพทย์คนอื่นๆ ต่อไป จากบทบาทของแพทย์จึงก้าวมาสู่บทบาทของการเป็นครูแพทย์ผู้ถ่ายทอดวิชาความรู้และผู้ค้นคว้าวิจัยเรื่องใหม่ๆ ทำให้ในวันนี้ ศ.กิตติคุณ นพ.จรัส ได้รับการเชิดชูเกียรติให้เป็น “ครูแพทย์แห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2561” จากกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย ซึ่ง ศ.กิตติคุณ นพ.จรัส กล่าวสั้นๆ ว่า รู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ได้รับเกียรติในครั้งนี้ รางวัลนี้จะเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างให้แพทย์ได้ตระหนักและเข้าใจถึงบทบาทการทำงานในฐานะ “ครูแพทย์” ที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่การสอนหนังสือในชั้นเรียนเท่านั้น หากแต่คือทุกขณะในการทำหน้าที่ของตนเอง

“ครู” คือผู้ให้ เพราะทุกหน้าที่สามารถส่งต่อความรู้ให้ผู้อื่นได้เสมอ

แม้ว่าปัจจุบัน ศ.กิตติคุณ นพ.จรัส จะมีภารกิจหลักด้านการบริหารและยุทธศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งการทำงานในตำแหน่งนี้ก็ยังทำหน้าที่ครูไปด้วยในตัว เพราะต้องถ่ายทอดหลักการและวิธีคิดเพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานเกิดการเรียนรู้และเข้าใจในภารกิจที่ดำเนินการอยู่อย่างถ่องแท้ ก่อนที่จะส่งต่อความรู้เหล่านี้ออกไปในรูปแบบของนโยบายหรือการพัฒนาระบบต่อไป ดังนั้นจึงไม่แตกต่างอะไรกับการทำหน้าที่เป็นครูแพทย์ ศ.กิตติคุณ นพ.จรัส ยังเล่าถึงประสบการณ์ หลังจากจบการศึกษาด้านประสาทศัลยศาสตร์จากประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งในยุคนั้นประสาทศัลยศาสตร์เป็นสาขาวิชาที่ยังไม่แพร่หลายนักในประเทศไทย การให้บริการผู้ป่วยก็ทำได้น้อยเพราะต้องใช้เวลามาก ขณะที่บุคลากรทางการแพทย์เองก็ยังขาดความรู้ความชำนาญอยู่มาก จึงเป็นช่วงเวลาที่ทำให้ ศ.กิตติคุณ นพ.จรัส ตระหนักว่า การส่งต่อความรู้ที่มีไปให้ผู้อื่นคือการให้ที่ไม่ใช่เพียงแค่ความรู้หรือสรรพวิทยาการ แต่เป็นการให้โอกาสคนจำนวนมากได้เข้าถึงการรักษาและการบริการทางการแพทย์

อีกหนึ่งบทบาทในการทำงานของ ศ.กิตติคุณ นพ.จรัส คือการเป็นนักวิจัยซึ่งท่านได้ให้ข้อคิดว่าเป็นอีกหนึ่งภารกิจที่สำคัญของผู้ที่จะเป็นครู เพราะการวิจัยคือการสั่งสมและสร้างองค์ความรู้ใหม่ขึ้นมาเพื่อถ่ายทอดให้กับผู้อื่นต่อไป ศ.กิตติคุณ นพ.จรัส ชี้ให้เห็นว่างานวิจัยควรเป็นวิถีชีวิตไม่ใช่โครงการ เพราะในทุกขณะของการรักษาและให้บริการผู้ป่วย หรือค้นคว้าเรื่องใดก็ตาม สิ่งที่อยู่ในวิถีชีวิตนั้นล้วนแล้วแต่เป็นแหล่งข้อมูลสำคัญที่จะสามารถนำมาต่อยอดเพื่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ๆ ได้ เมื่อแพทย์ทำหน้าที่ของตนเองอย่างเต็มที่แล้ว และสามารถสังเคราะห์สิ่งเหล่านั้นออกมาเป็นชุดข้อมูลหรือผลงานวิจัยได้ย่อมเปรียบเสมือนครูผู้ส่งต่อประสบการณ์และความรู้ใหม่ให้แก่ผู้อื่น

จากใจครูแพทย์ถึงลูกศิษย์

ศ.กิตติคุณ นพ.จรัส ฝากถึงลูกศิษย์ทุกคนว่า จิตวิญญาณความเป็นแพทย์คือหัวใจสำคัญของการทำหน้าที่ ไม่ได้วัดกันที่ฝีมือในการรักษาหรือการผ่าตัด แต่จิตวิญญาณความเป็นแพทย์จะนำพาให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่แพทย์ตัดสินใจทำและลงมือทำในสิ่งที่ดีที่สุด เพื่อให้ผู้ป่วยรอดพ้นจากความเจ็บป่วยและมีชีวิตต่อไปได้ สำหรับผลตอบแทนที่จะได้รับนั้นก็มาในรูปของความปิติยินดีที่ได้เห็นผู้ป่วยมีสุขภาพที่ดีขึ้น รวมถึงอยากให้ทุกคนตระหนักถึงการทำงานของตนเองอยู่เสมอว่า นอกจากค่าตอบแทนที่เป็นเงินแล้ว เคยได้รับห้วงเวลาแห่งความปิติยินดีและความสุขจากการกระทำที่เป็นประโยชน์ของตนเองแล้วหรือยัง