ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่

Thai Red Cross Emerging Infectious Diseases Health
Science Centre

ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพระดับนานาชาติ ด้านการวิจัย วินิจฉัย รักษา
และควบคุมโรคอุบัติใหม่ และโรคสมอง

นับตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2543 ศูนย์ปฏิบัติการโรคทางสมองได้เริ่มก่อตั้งขึ้น ด้วยทุนสนับสนุนจากสภากาชาดไทยที่มีภารกิจหลักในด้านการวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยทางสมองทั้งที่เกิดจากการติดเชื้อและไม่ติดเชื้อ รวมทั้งงานพัฒนานวัตกรรมการตรวจโรคทางสมองและงานวิจัยโรคพิษสุนัขบ้าแบบครบวงจร ต่อมาในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2551 ได้รับการแต่งตั้งจากองค์การอนามัยโลก ให้เป็น ศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลกด้านค้นคว้าและอบรมโรคติดเชื้อไวรัสสัตว์สู่คน ที่เน้นการทำงานด้านโรคติดเชื้อไวรัสสัตว์สู่คนและโรคอุบัติใหม่เพิ่มมากขึ้นทั้งในด้านงานวินิจฉัย งานวิจัยและงานเฝ้าระวังโรคอุบัติใหม่ในสัตว์ป่าสู่คน ที่นำมาสู่การพัฒนาศักยภาพในการตรวจโรคอุบัติใหม่ร้ายแรงที่แม้ไม่เคยเกิดในประเทศไทย อาทิ อีโบลา เมอร์ส ไข้เหลือง เป็นต้น โดยที่สามารถตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยติดเชื้อเมอร์สรายแรกของประเทศไทย และผู้ป่วยโควิด-19 รายแรกของโลกที่อยู่นอกประเทศจีน แต่อยู่ในประเทศไทยได้สำเร็จ โดยใช้เวลาการวินิจฉัยเบื้องต้นภายใน 8 ชั่วโมงและยืนยันผลการถอดรหัสพันธุกรรมได้ภายใน 24 ชั่วโมง

ต่อมาร่วมกับฝ่ายต่าง ๆ ในโรงพยาบาลพัฒนาเป็นศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ หนึ่งในหน่วยงานของศูนย์โรคติดต่ออุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ที่ได้รับอนุมัติจัดตั้งตามคำสั่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ที่ 1151/2559  ลงวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2559

ผลงานที่โดดเด่นของศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่


เจตจำนง

Internationally Renowned Health Science Center ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพระดับนานาชาติ ด้านการวิจัย วินิจฉัย รักษา และควบคุมโรคอุบัติใหม่ และโรคสมอง และส่งเสริมสุขภาพของประชาชน

ภาระหน้าที่

Advance Innovation พัฒนานวัตกรรมที่สามารถวินิจฉัย ป้องกัน รักษา และควบคุมโรคอุบัติใหม่
จากการหาในมนุษย์ และยุติการหาไวรัส


ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ ประกอบด้วยหน่วยงานย่อย ดังนี้

1. แผนกทะเบียนและธนาคารตัวอย่าง

2. แผนกงานบริการทางห้องปฏิบัติการ

  • งานโรคติดเชื้อ
  • งานโรคทางสมอง

3. แผนกงานวิจัยและพัฒนา

  • งานวิจัยและนวัตกรรม
  • งานชีวสารสนเทศและธนาคารรหัสพันธุกรรม

4. แผนกงานบริหาร


การให้บริการของศูนย์

1. งานบริการตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ

โรคที่ต้องจับตา 
ตรวจวินิจฉัยสิ่งส่งตรวจผู้ป่วยโรคติดต่ออันตราย และโรคระบาดประจำถิ่นที่มีแนวโน้มว่าจะทวีความรุนแรงจากการกลายพันธุ์หรือเป็นโรคระบาดอื่น ๆ เช่น การระบาดของโรคไข้เลือดออกซิกา ไข้หวัดใหญ่ โควิดสายพันธ์ต่างๆ ในสัตว์ป่า

  • โรคอุจจาระร่วงที่ทำให้เสียชีวิตหรือระบาดในวงกว้างอย่างรวดเร็ว ด้วยนวัตกรรมถอดรหัสพันธุกรรมเชื้อโรคหรือตัวบ่งชี้ต้นตอ
  • โรคที่มีโอกาสจะข้ามถิ่นมาระบาดในไทย
    พัฒนานวัตกรรมและบริการตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการโรคต่างถิ่นที่มีโอกาสข้ามถิ่นก่อโรคติดต่ออันตราย หรือระบาดได้ในประเทศไทย รวมทั้ง อีโบลา ไข้เหลือง เมอร์ส ไวรัสมาร์บวร์ก ฝีดาษลิง เพื่อให้สามารถตรวจจับโรคได้ก่อนที่จะแพร่สู่ชุมชนในวงกว้าง
  • โรคอุบัติใหม่ที่ยังไม่เคยเกิดที่ใดมาก่อน
    ตรวจวินิจฉัยโรคติดเชื้อไม่ทราบสาเหตุเชิงลึก ในระดับโมเลกุล เพื่อค้นหาสาเหตุการเกิดโรคที่อาจจะเป็นเชื้อใหม่ที่ไม่เคยพบมาก่อน หรือเป็นเชื้อโรคเดิมแต่ก่อโรคในกลุ่มอาการใหม่
  • โรคทางสมอง 
    ตรวจวินิจฉัยโรคทางสมองครบวงจร ทั้งโรคติดเชื้อและที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ อาทิ โรคสมองที่เกิดจากภูมิคุ้มกัน โรคความเสื่อมของระบบประสาท และ โรคคล้ายวัวบ้า โรคสมองอื่นๆให้บริการทั้งผู้ป่วยโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และหน่วยงานอื่น ๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ

2. งานบริการวิชาการ

เพื่อสนับสนุนกระทรวงสาธารณสุข และเครือข่ายขององค์การอนามัยโลก และอนามัยสัตว์โลก ด้านการวิจัย วินิจฉัย รักษา และควบคุมโรคอุบัติใหม่และโรคสมองในมิติต่าง ๆ อาทิ งานสอบสวนโรคร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขเมื่อเกิดโรคระบาดไม่ทราบสาเหตุ วิจัยและพัฒนาการตรวจโรคสมองเสื่อมเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการรองรับความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลมาจากสังคมสูงอายุ ร่วมจัดทำคู่มือการดูแลโรค เวชปฏิบัติ คู่มือการตรวจวินิจฉัย เป็นคณะกรรมการ – ผู้เชี่ยวชาญของกระทรวงสาธารณสุข และองค์การอนามัยโลกเจนีวาและภาคพื้นเอเชีย จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู่สู่สาธารณะทั้งระดับวิชาการและประชาชน เป็นวิทยากรให้ความรู้แก่หน่วยงานภายนอก จัดทำเว็บไซต์เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเรื่องโรคอุบัติใหม่ (www.trceid.org)

3. ปฏิบัติการเตรียมความพร้อมรับมือโรคอุบัติใหม่

  • ปฏิบัติการวินิจฉัยด้วยกระบวนการพัฒนา โรคอุบัติใหม่ที่ยังไม่เคยเกิดที่ใดมาก่อนในผู้ป่วยเพื่อการเตรียมความพร้อมรับมือโรคอุบัติใหม่ ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายระดับประเทศ และนานาชาติ
  • พัฒนานวัตกรรมที่สามารถวินิจฉัย ป้องกัน รักษา และควบคุมโรคอุบัติใหม่ โดยมีความพร้อมรองรับโรคที่เกิดจากเชื้อได้หลากหลายรูปแบบ และครอบคลุมกลุ่มโรคที่ไม่เคยระบาดในประเทศไทยมาก่อน รวมทั้งโรควัวบ้า
  • ร่วมพัฒนากระบวนการรักษาและวินิจฉัย ด้วยการผลิตยาและชุดตรวจกับคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • พัฒนานวัตกรรมที่สามารถวินิจฉัยและพยากรณ์โรคความเสื่อมของระบบประสาทตั้งแต่ระยะที่ยังไม่มีอาการ ที่ตรวจได้สะดวก รวดเร็ว มีราคาถูก และนำไปใช้ได้อย่างแพร่หลาย เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการทำนายอุบัติการณ์ของโรค คาดคะเนภาระทางเศรฐกิจและสังคมในอนาคตอันใกล้ อันเป็นผลมาจากโรคเหล่านี้ มีเป็นแนวทางในการเตรียมรับมือ ป้องกันและค้นคว้าหาวิธีรักษา
  • สร้างเครือข่ายระดับชาติ และนานาชาติ เพื่อการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เหมาะสม และนวัตกรรมด้านการค้นหาโรคเชิงรุก

4. งานพัฒนาเชิงรุกโรคอุบัติใหม่

  • งานวิจัยและพัฒนา การป้องกัน-รักษาโรค: วัคซีน ยาต้านเชื้อไวรัส เทคโนโลยีรักษาใหม่ ๆ
  • การศึกษาวิทยาศาสตร์พื้นฐานเพื่อนำองค์ความรู้ที่ได้รับไปใช้ในการพัฒนาต่อยอดเพื่อการรักษาและควบคุมโรค ทั้งโรคติดเชื้อ
    และไม่ติดเชื้อ
  • ธนาคารตัวอย่างชีวภาพ โรคติดเชื้อ เพื่อการตรวจสอบสาเหตุของโรคย้อนหลังและการวิจัย
  • ธนาคารตัวอย่างทางชีวภาพ โรคความเสื่อมของระบบประสาท เพื่อใช้ตัวอย่างในการวิจัยสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับสาเหตุของโรค พัฒนาการตรวจเพื่อวินิจฉัยและพยากรณ์โรค นำไปสู่การค้นคว้าหาวิธีรักษาโรคที่มีประสิทธิภาพ
  • ระบบธนาคารรหัสพันธุกรรมเชื้อโรคเชื่อมโยงข้อมูลด้านคลินิกและระบาดวิทยา Clinical Genomic Integration Platform (CGIP)

วัน/เวลา และสถานที่ให้บริการ

ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ฯ เปิดให้บริการเวลา 08.30 – 17.00 น. (เว้นวันหยุดราชการ) และกรณีสถานการณ์ฉุกเฉิน เปิดบริการ 24 ชั่วโมง ณ อาคาร อปร ชั้น 9 ห้อง 901/5

ข้อมูลติดต่อ

ชื่อฝ่าย/ศูนย์

ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่
อาคาร อปร ชั้น 9 

เบอร์โทรศัพท์หน่วยงาน

02 256 4000 ต่อ 3622

เว็บไซต์หน่วยงาน