ฝ่ายรังสีวิทยา
Department of Radiology
มุ่งสู่การเป็นหน่วยรังสีรักษาชั้นนำระดับโลก
ที่มีความเป็นเลิศทางคลินิกและการดูแลผู้ป่วย
ฝ่ายรังสีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เริ่มเปิดให้บริการการรักษาโรคมะเร็งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2494 จนถึงปัจจุบัน มีเครื่องมือที่ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย มีความพร้อมทางด้านบุคลากรที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการรักษาผู้ป่วยมะเร็งด้วยรังสี เป็นที่ไว้วางใจแก่ผู้ป่วยมามากกว่า 60 ปี
เริ่มมีอาคารให้บริการผู้ป่วยโรคมะเร็งโดยเฉพาะ ในปี พ.ศ. 2503 ได้เริ่มสร้างอาคาร สวัสดิ์-ล้อม โอสถานุเคราะห์ ซึ่งเป็นสถานที่ของแผนกรังสีวิทยา รับผู้ป่วยโรคมะเร็งได้ประมาณ 50 คน หลังจากนั้นจำนวนผู้ป่วยได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเนื่องจากการแพทย์เจริญขึ้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงโปรดให้สภากาชาดไทยสร้างอาคารอับดุลราฮิม โดยต่อเติมจากอาคารโคบอลต์เดิมที่เป็นอาคารชั้นเดียวเป็น 3 ชั้น มีห้องให้เคมีบำบัดเพื่อบริการผู้ป่วยอยู่ที่ชั้น 2 และมีการติดตั้งเครื่องฉายรังสีเพิ่มมากขึ้นเพื่อรองรับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น ถัดมาในช่วงปี พ.ศ. 2528 – พ.ศ. 2530 ได้ทำการก่อสร้างอาคารล้วน–เพิ่มพูล ว่องวานิช เพื่อเป็นศูนย์ป้องกันและรักษาโรคมะเร็งซึ่งมีทั้งหมด 9 ชั้น ทางสาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา ให้บริการอยู่ที่ชั้น 1 เป็นห้องตรวจโรค ชั้น 3 เป็นการรักษาด้วยการใส่แร่ และชั้น 5 – 7 เป็นหอผู้ป่วยใน ในปี พ.ศ. 2532 ได้ดำเนินการสร้างอาคารเอลิสะเบธ-จักรพงษ์ เพื่อรองรับเครื่องฉายรังสีและเครื่องจำลองการฉายรังสีเครื่องแรก และหลังจากนั้นได้มีการพัฒนาเครื่องมือจนมีเครื่องฉายแสงทั้งหมด 6 เครื่องในปี พ.ศ. 2557
ในปี พ.ศ. 2559 ได้เริ่มก่อสร้างอาคารรัตนวิทยาพัฒน์ ที่ชั้น B1 และชั้น 1 เป็นพื้นที่ของสาขารังสีรักษา มีการติดตั้งเครื่องฉายรังสีอีก 3 เครื่อง เพื่อรองรับการขยายการให้บริการผู้ป่วยที่จะเพิ่มขึ้น
ในปี พ.ศ. 2562 ได้เริ่มก่อสร้างศูนย์โปรตอนสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ บนพื้นที่อาคารสวัสดิ์-ล้อมเดิม เพื่อรองรับการฉายรังสีด้วยอนุภาคโปรตอน ซึ่งเป็นสถาบันแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดในปัจจุบันมาใช้รักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง
ทางสาขาฯ พัฒนาระบบและเทคนิคการรักษาผู้ป่วยมะเร็งอย่างต่อเนื่อง เพื่อก้าวสู่การเป็นสาขารังสีรักษาชั้นนำระดับนานาชาติ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เทคโนโลยีและวิวัฒนาการของรังสีรักษาได้พัฒนาก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ทั้งเทคนิคการฉายรังสีและเครื่องมือฉายรังสี กล่าวคือ มีการพัฒนาเทคนิคการฉายรังสีเอกซเรย์ จากแบบ 2 มิติ เป็น 3 ถึง 4 มิติ และพัฒนาสู่การฉายรังสีปรับความเข้ม (intensity modulated radiotherapy: IMRT) การฉายรังสีปรับความเข้มหมุนรอบตัว (volumetric modulated arc radiotherapy: VMAT) การฉายรังสีศัลยกรรมร่วมพิกัด (stereotactic radiosurgery: SRS) และการฉายรังสีร่วมพิกัดบริเวณลำตัว (stereotactic body radiotherapy: SBRT) อีกทั้งยังได้พัฒนาเครื่องมือฉายรังสี จากเดิมใช้รังสีแกมมาเป็นรังสีเอกซ์และลำอิเล็กตรอนจากเครื่องเร่งอนุภาค และในที่สุดได้มีการพัฒนาการฉายรังสีโดยใช้อนุภาคโปรตอนขึ้น กอปรกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ทำให้สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งและเกิดผลข้างเคียงจากการรักษาน้อยที่สุด
รางวัลหรือความภาคภูมิใจ
- ปี พ.ศ. 2494 เริ่มใช้เครื่องเอกซเรย์แบบลึกสำหรับรักษามะเร็งชนิดตื้น (Deep X-ray GE Maximar 400) ซึ่งขณะนั้นเป็นเครื่องที่มีประสิทธิภาพที่สุดในประเทศไทย
- ปี พ.ศ. 2501 สหสมาคมกาชาดและจันทร์แดงแห่งสหภาพโซเวียตได้บริจาคเครื่อง Cobalt 60 Teletherapy แบบ GUT-400 ซึ่งถือเป็นเครื่องโคบอลต์เครื่องแรกในประเทศไทย โดยใช้รักษาผู้ป่วย พ.ศ. 2502 – พ.ศ. 2513
- ปี พ.ศ. 2548 เริ่มการฉายรังสีแบบปรับความเข้ม (Intensity Modulated radiotherapy; IMRT) และพัฒนาเป็นการฉายรังสีปรับความเข้มแบบหมุนรอบตัว (Volumetric Modulated Arc Therapy; VMAT) พร้อมระบบภาพนำวิถีแบบ 3 มิติ ในปี พ.ศ. 2554 ซึ่งถือเป็นเครื่องฉายรังสีแรกในประเทศไทย และในปัจจุบันรักษาผู้ป่วยด้วยเทคนิคนี้ได้มากถึง 1,600 รายต่อปี
- ปี พ.ศ. 2552 เริ่มใช้เทคนิคการใส่แร่ด้วยระบบภาพนำวิถี (image guided adaptive brachytherapy) โดยนำภาพจากเครื่องสร้างภาพด้วยสนามแม่เหล็ก (magnetic resonance imaging: MRI) มาใช้ในการคำนวณการรักษาแบบ 3 มิติ เป็นแห่งแรกในประเทศ และเป็นสถาบันแรก ๆ ของโลก ทำให้สามารถกำหนดตำแหน่งรอยโรคและอวัยวะปกติรอบข้างได้ชัดเจนขึ้น ส่งผลให้การใส่แร่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
- ปี พ.ศ. 2560 ทางสาขาฯ ก่อตั้งคณะกรรมการความเสี่ยงในงานรังสีรักษาเป็นแห่งแรกในประเทศไทย ประกอบด้วยสหสาขาวิชาชีพ เพื่อดูแลกระบวนการรักษาผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงความปลอดภัยของบุคลากรทางรังสีรักษาและประชาชนทั่วไป
- ปี พ.ศ. 2562 เริ่มติดตั้งเครื่องฉายรังสีด้วยอนุภาคโปรตอน (proton) ซึ่งเป็นเครื่องแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศไทย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานการติดตั้งเครื่องไซโคลตรอน (cyclotron) เพื่อเร่งอนุภาคโปรตอนของศูนย์โปรตอนสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ โดยจะพร้อมให้การรักษาผู้ป่วยรายแรกในปลายปี พ.ศ. 2564
- ปี พ.ศ. 2562 ทางสาขาฯ ได้ผ่านการเยี่ยมสำรวจและประเมินคุณภาพการรักษาด้วยรังสี (quality assurance team for radiation oncology: QUATRO) จากทบวงการปรมาณูระหว่างประเทศ (international atomic energy agency: IAEA) ในระดับ center of competence
- ปี พ.ศ. 2550 – ปัจจุบัน เป็นศูนย์การฝึกอบรมทางรังสีรักษาของ IAEA, บริษัท Varian และบริษัท Elekta สำหรับรังสีแพทย์ นักฟิสิกส์การแพทย์ นักรังสีการแพทย์ และพยาบาล จากทั้งในและต่างประเทศ ทำให้สาขาฯ เป็นศูนย์รังสีรักษาต้นแบบให้กับศูนย์อื่นๆ ในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีผู้เข้ารับการฝึกอบรมจากต่างประเทศ ปีละ 4 – 6 คน
- เป็นสถาบันการศึกษาเดียวในประเทศไทยที่มีการผลิตบุคลากรทางรังสีรักษาในทุกระดับ ได้แก่ หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต การฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านเฉพาะทาง หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิตสาขารังสีเทคนิคและฟิสิกส์ทางการแพทย์ หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต และดุษฏีบัณฑิตสาขาฟิสิกส์การแพทย์




เจตจำนง
มุ่งสู่การเป็นหน่วยรังสีรักษาชั้นนำระดับโลก ที่มีความเป็นเลิศทางคลินิกและการดูแลผู้ป่วย ควบคู่ไปกับการพัฒนางานสอนเพื่อสามารถผลิตแพทย์ประจำบ้านที่มีคุณภาพ รวมถึงการสร้างงานวิจัยเพื่อพัฒนาการรักษาให้ดียิ่งขึ้น และมีประสิทธิภาพสูงขึ้น
ภาระหน้าที่
- ให้บริการดูแลรักษาผู้ป่วยทางด้านรังสีรักษาอย่างครบวงจร ด้วยวิธีการมาตรฐาน มีหลักฐานและข้อมูลทางการแพทย์ที่น่าเชื่อถือและอ้างอิงได้ เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ
- ผลิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านรังสีรักษาตามเกณฑ์มาตรฐาน มีคุณธรรม และจริยธรรม
- ให้บริการวิชาการและความรู้แก่หน่วยงานและประชาชน
- สร้างงานวิจัยและองค์ความรู้ใหม่เพื่อพัฒนาการรักษาให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น
- ส่งเสริมการพัฒนาบุคลากร แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ทุกระดับอย่างต่อเนื่อง
- จัดอบรมและเป็นสถานที่ศึกษาดูงานของบุคลากรทางรังสีรักษาและโรคมะเร็งจากสถาบันอื่น ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
- พัฒนาเครื่องมือที่ใช้ในการรักษาให้ได้มาตรฐานและเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยี



โครงสร้างของฝ่ายรังสีวิทยา ประกอบด้วยงานด้านต่าง ๆ ดังนี้

การให้บริการของฝ่าย
ฝ่ายรังสีวิทยา เปิดให้บริการ ดังนี้
- บริการผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน โดยให้บริการผู้ป่วยนอกมากกว่า 2,700 รายต่อปี และผู้ป่วยในมากกว่า 2,500 รายต่อปี
- ปัจจุบันมีเครื่องฉายรังสีทั้งหมด 6 เครื่อง สามารถให้บริการฉายรังสีผู้ป่วยได้ปีละประมาณ 3,500 ราย มีระยะเวลารอฉายรังสีสั้นที่สุดในประเทศไทย
- ใส่แร่ 3 มิติ โดยใช้ภาพจากเครื่องเอ็มอาร์ (MRI)
- การรักษามะเร็งด้วยอนุภาคโปรตอน เริ่มให้การรักษาปลายปี พ.ศ. 2563
- โครงการเพื่อนคู่คิดพิชิตมะเร็ง ให้คำปรึกษาและให้กำลังใจแก่ผู้ป่วยมะเร็งทางโทรศัพท์
วัน/เวลา และสถานที่ให้บริการ
ฝ่ายรังสีวิทยา เปิดบริการตั้งแต่เวลา 08.00 – 19.00 น. โดยรับบริการทั้งผู้ป่วยในและนอกเวลาราชการ
ฝ่ายรังสีวิทยา มีทั้งหมด 5 อาคาร ดังนี้
- อาคารเอลิสะเบธ จักรพงษ์
- อาคารล้วน-เพิ่มพูล ว่องวานิช (ห้องตรวจผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน)
- อาคารอับดุลราฮิม
- อาคารรัตนวิทยาพัฒน์ ชั้น B1 และชั้น 1
- ศูนย์โปรตอนสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
ข้อมูลติดต่อ
ชื่อฝ่าย/ศูนย์
ฝ่ายรังสีวิทยา
เบอร์โทรศัพท์หน่วยงาน
02 256 4100, 02 256 4334
โทรสารหน่วยงาน
02 256 4405
เว็บไซต์หน่วยงาน
Facebook หน่วยงาน
Line หน่วยงาน
@chulacancer
Email หน่วยงาน
chulacancer@yahoo.com