ศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ แก้ไขความพิการ
บนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ

Princess Sirindhorn Craniofacial Center


แก้ไขความผิดปกติบนใบหน้าและศีรษะ
โดยทีมสหสาขาวิชาชีพอย่างครบวงจร และมีคุณภาพเทียบเท่าสากล

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529 ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์จรัญ มหาทุมะรัตน์ ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ ได้แก่ กุมารแพทย์ ประสาทศัลยแพทย์ รังสีแพทย์ จักษุแพทย์ แพทย์โสต ศอ นาสิก วิสัญญีแพทย์ ทันตแพทย์จัดฟัน จิตแพทย์ นักอรรถบำบัด นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา พยาบาล จัดตั้งเป็น “คณะทำงานแก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์”  มาร่วมกันทำงานโดยไม่รับค่าตอบแทนใด ๆ เป็นพิเศษ เริ่มดำเนินงานด้านการแก้ไขความผิดปกติบนใบหน้าและศีรษะ

ในปี พ.ศ.​ 2544 “ศูนย์แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย” ได้ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จ
พระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวโรกาสเจริญพระชนมายุครบ 48 พรรษา และต่อมาในปี พ.ศ.​ 2551 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดศูนย์อย่างเป็นทางการ และทรงพระราชทานชื่อใหม่ว่า “ศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย” ในปี พ.ศ. 2552

ผลงานที่ภาคภูมิใจของศูนย์

ผลงานของศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ ที่ผ่านมามีมากมาย อาทิ

  1. ศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ เป็นแหล่งรับส่งต่อผู้ป่วยแห่งแรกของประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ใหญ่ที่สุด มีผู้ป่วยส่งต่อมาจากสถาบันทางการแพทย์ทั่วประเทศ เช่น โรงพยาบาลประจำจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ องค์กรการกุศลต่าง ๆ สื่อมวลชนต่าง ๆ รวมทั้งสำนักพระราชวัง ซึ่งจะส่งต่อคนไข้ที่แพทย์ตามเสด็จไปพบ เช่น ในระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฎรในท้องถิ่นต่าง ๆ และจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม, เขมร, ลาว ฯลฯ

  2. ดูแลรักษาผ่าตัดผู้ป่วยที่มีความผิดปกติบนใบหน้าและศีรษะหลากหลายประเภทมากกว่า 3,000 ราย จึงเป็นแหล่งเรียนรู้ของบุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศและต่างประเทศ

  3. เป็นต้นแบบของการดูแลผู้ป่วยในกลุ่มนี้แบบครบวงจร ทั้งทางกาย ใจ และสังคม ดั่งสมาชิกในครอบครัว มีกิจกรรมต้นแบบหลาย ๆ อย่างที่ดำเนินการเป็นแห่งแรก อาทิ โครงการชีวิตินี้ยังมีหวัง craniofacial support group โครงการเกษตรเติมฝัน  โครงการผู้ป่วยอิ่มท้อง เราอิ่มใจ  กิจกรรมสนุกสุขสันต์วันพบปะ โครงการคลินิกเคลื่อนที่ โครงการหนึ่งทุน หนึ่งฝัน ปั้นอนาคต ฯลฯ

  4. เป็นศูนย์กลางการรักษาผู้ป่วยโรคงวงช้าง (frontoethmoidal encephalomeningocele) ที่เป็นที่รู้จักกันดีทั่วโลก มีเทคนิคการผ่าตัดแก้ไขความพิการในโรคงวงช้างโดยวิธี “จุฬาเทคนิค” ซึ่งได้รับพระราชทานรางวัลมหิดล บี บราวน์ เพื่อการแพทย์และสาธารณสุขไทยประจำปี พ.ศ. 2542 ปัจจุบันเป็นวิธีที่เป็นที่รู้จักดี และถูกนำไปใช้ทั่วโลก

  5. เป็นผู้นำในการนำเอาเทคโนโลยีและความก้าวหน้าทางการแพทย์ในสาขานี้ มาใช้ในประเทศ เช่น อุปกรณ์เพิ่มขนาดกระดูกใบหน้า (distractor) การทดแทนกระดูกใบหน้าและกะโหลกศีรษะด้วยกระดูกเทียมที่ออกแบบโดยเฉพาะสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย (customized implant) โดยเทคโนโลยีการสร้างต้นแบบทางการแพทย์อย่างรวดเร็ว (rapid prototyping) วัสดุยึดเชื่อมกระดูกแบบละลายได้ (resorbable plates & screws) การวางแผนผ่าตัดด้วยระบบคอมพิวเตอร์และต้นแบบเสมือนจริง (simulation surgery)

  6. บุคลากรของศูนย์ฯ ได้รับเกียรติเป็นกองบรรณาธิการวารสารการแพทย์ระดับนานาชาติหลายฉบับ

  7. บุคลากรของศูนย์ฯ มีบทบาทต่าง ๆ ในสมาคมในระดับนานาชาติหลายสมาคม เช่น ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์จรัญ มหาทุมะรัตน์ เป็นผู้ร่วมก่อตั้งและเป็นกรรมการบริหารสมาคมระดับภูมิภาค คือ Asian-Pacific Craniofacial Association จนถึงปี พ.ศ. 2552  รศ.นพ.นนท์ โรจน์วชิรนนท์ เป็นกรรมการบริหารสมาคมระดับภูมิภาค คือ Asian-Pacific Craniofacial Association ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์จรัญ มหาทุมะรัตน์ เป็นกรรมการบริหาร (Council Member) ของสมาคมระดับนานาชาติ คือ International Society of Craniofacial Surgery (มิถุนายน 2544 – ปัจจุบัน) ซึ่งก่อตั้งโดยศัลยแพทย์ผู้เป็นบิดาแห่งวงการ Craniofacial Surgery คือ Prof. Dr. Paul Tessier แห่งประเทศฝรั่งเศส (เป็นคนไทยคนแรกที่เป็นสมาชิกของสมาคมนี้)

  8. ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์จรัญ มหาทุมะรัตน์ และรศ.นพ.นนท์ โรจน์วชิรนนท์ เป็นกรรมการผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมความพิการปากแหว่ง เพดานโหว่ ใบหน้าและศีรษะแห่งประเทศไทย โดย ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์จรัญ มหาทุมะรัตน์ ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมฯ เป็นท่านแรก
    ส่วนรศ.นพ.นนท์ โรจน์วชิรนนท์ เป็นกรรมการบริหารตั้งแต่ชุดแรก ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมวาระ 2562 – 2564

  9. แพทย์หญิงชุติมา จิรภิญโญ เป็น associate member ของ Asian – Pacific Craniofacial Association

เจตจำนง

  1. เป็นศูนย์กลางการดูแลรักษาผู้ป่วยโดยทีมสหสาขาวิชาชีพอย่างครบวงจรและมีคุณภาพเทียบเท่าสากล
  2. มีความเป็นเลิศด้านวิชาการในการแก้ไขความผิดปกติบนใบหน้าและศีรษะ (craniofacial surgery)
  3. เป็นสถาบันฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านต่อยอดในสาขาการแก้ไขความผิดปกติบนใบหน้าและศีรษะ

ภาระหน้าที่

ศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ มุ่งรักษาผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และสังคมด้วยมาตรฐานสูงสุดทัดเทียมกับประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญสูง ทั้งที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และโรงพยาบาลในภูมิภาคใกล้บ้านผู้ป่วย ที่สำคัญผู้ป่วยและครอบครัวไม่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่าย และไม่ถูกจำกัดด้วยระบบสุขภาพใด ๆ


ศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ มีศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์จรัญ
มหาทุมะรัตน์ ดำรงตำแหน่งหัวหน้าศูนย์ฯ มี รศ.นพ.นนท์ โรจน์วชิรนนท์ ดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าศูนย์ฯ และบุคลากรอื่น ๆ ได้แก่

  1. ศัลยแพทย์ตกแต่ง
  2. นักอรรถบำบัด
  3. นักจิตวิทยา
  4. พยาบาลวิชาชีพ
  5. ผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ
  6. เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป

ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์จรัญ มหาทุมะรัตน์
หัวหน้าศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ

รศ.นพ.นนท์ โรจน์วชิรนนท์
รองหัวหน้าศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ


การให้บริการของศูนย์

สำหรับผู้ที่มีความผิดปกติบนใบหน้าและศีรษะที่ต้องเข้ารับการรักษา สามารถติดต่อผ่านเหล่ากาชาดจังหวัดหรือติดต่อศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะได้โดยตรง

การดูแลทางด้านร่างกาย

การให้บริการแบบผู้ป่วยนอก 

  1. การตรวจที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ (พื้นที่กรุงเทพมหานคร)                            
    การให้บริการผู้ป่วยนอกของทางศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ ถือเป็นต้นแบบของคลินิกเฉพาะทางด้านการแก้ไขความผิดปกติบนใบหน้าและศีรษะ เนื่องจากมีผู้เชี่ยวชาญหลายสาขามาร่วมกันตรวจดูแลผู้ป่วย มีระบบฐานข้อมูลและเก็บบันทึกข้อมูลที่ทันสมัย และดำเนินการมากกว่า 20 ปี ทางศูนย์ฯให้บริการแบบผู้ป่วยนอกเป็นช่วงเวลาสำหรับทั้งผู้ป่วยใหม่ที่ต้องการมารับบริการเป็นครั้งแรกและผู้ป่วยเก่าของศูนย์ฯ ทุกวันจันทร์ ที่ชั้น 14 อาคาร สก. โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
    (กรุณาติดต่อทำนัดล่วงหน้าก่อนมาตรวจ เพื่อจะได้ไม่ต้องรอตรวจนานจนเกินไป)

  2. คลินิกเคลื่อนที่แบบสหสาขาวิชาชีพ (พื้นที่ต่างจังหวัด)
    ศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ ได้ยกทีมผู้เชี่ยวชาญสหสาขาประกอบด้วย ศัลยแพทย์ตกแต่ง ประสาทศัลยแพทย์ กุมารแพทย์ ทันตแพทย์จัดฟัน จักษุแพทย์ แพทย์โสต ศอ นาสิก วิสัญญีแพทย์ นักแก้ไขการพูด นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ พยาบาล ลงพื้นที่ตัวแทนแต่ละภูมิภาคเพื่อตรวจวินิจฉัยและวางแผนการรักษาผู้ป่วยในเขตพื้นที่นั้น ๆ โดยร่วมกับเหล่ากาชาดจังหวัด โรงพยาบาลประจำจังหวัด กระทรวงสาธารณสุข

  3. การตรวจผ่านช่องทางออนไลน์ (ทั่วประเทศ)
    ผู้ป่วยสามารถเข้ารับการตรวจเบื้องต้นผ่านทางช่องทางออนไลน์ เนื่องจากความไม่สะดวกทางการเดินทาง หรือเพื่อให้ทันท่วงทีในการรักษา ทั้งการโทรด้วยระบบปกติ ระบบวีดีโอคอล การส่งรูปถ่ายและคลิปวีดีโอต่าง ๆ ผ่านทางโปรแกรมไลน์, เฟซบุ๊ก, อีเมล และโทรสาร 

การวางแผนรักษาผู้ป่วย (craniofacial conference)     

การประชุมวางแผนการรักษาในลักษณะนี้เป็นกิจกรรมที่มีเฉพาะในศูนย์ชั้นนำทั่วโลกเท่านั้น เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของร่างกายมากกว่า 2 ระบบ ที่ศูนย์ของเรามีการทำกิจกรรมนี้มาตั้งแต่ปี พ.ศ.​ 2529

เนื่องจากผู้ที่มีความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะมักมีความผิดปกติของอวัยวะต่าง ๆ บนใบหน้า ทำให้ไม่มีแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญคนใดสามารถให้รักษาดูแลรักษาได้แต่เพียงผู้เดียว ดังนั้น ทางศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ จึงได้จัดให้มีการประชุมวางแผนรักษาผู้ป่วยแต่ละราย โดยอาศัยความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ เสียสละเวลาจากงานประจำมาร่วมปรึกษาพูดคุยกันทุกวันพุธที่ 3 ของเดือน

การผ่าตัดรักษาผู้ป่วย

  1. การผ่าตัด ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
    ศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ เป็นศูนย์เฉพาะทางมีผู้เชี่ยวชาญในการรักษาผู้ป่วยที่มีความผิดปกติบนใบหน้าและศีรษะทุกประเภท พร้อมด้วยอุปกรณ์และเครื่องมือที่ทันสมัย

    มีบริการผ่าตัดนอกเวลาราชการ
    ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติบนใบหน้าและศีรษะมารับการรักษาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกปี ผู้ป่วยเกือบทุกรายต้องรักษาด้วยการผ่าตัด และระยะเวลาการรอคอยการผ่าตัดมีระยะเวลานาน จึงมีความจำเป็นที่ต้องทำการผ่าตัดนอกเวลา เพื่อช่วยลดระยะเวลาการรอคอยการผ่าตัดของผู้ป่วยและทำให้ผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดตามช่วงเวลาที่เหมาะสม

    เพิ่มเตียงผู้ป่วย ICU
    ศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ จ้างบุคลากรทาง ICU เพิ่มเพื่อมาดูแลผู้ป่วยโดยเฉพาะทำให้ผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดอย่างแน่นอน มีความปลอดภัยสูงสุดหลังการผ่าตัด และแก้ปัญหาการงดผ่าตัด เนื่องจากไม่มีเตียงใน ICU

  2. เดินทางไปผ่าตัด ณ พื้นที่ต่างจังหวัด
    ในทุก ๆ เดือน ศัลยแพทย์ตกแต่งและทีมผู้เชี่ยวชาญสหสาขาของศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ จะเดินทางไปผ่าตัดผู้ป่วย ณ โรงพยาบาลใกล้บ้านของผู้ป่วย เป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางเข้าสู่กรุงเทพมหานคร

การดูแลรักษาทางด้านจิตใจ

  1. นักจิตวิทยา
    ผู้ป่วยและครอบครัวที่อยู่ในความดูแลของศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ จะได้รับคำแนะนำจากนักจิตวิทยา เช่น ความกังวลจากการมีบุคคลในครอบครัวมีความผิดปกติบนใบหน้าและศีรษะ การโดนล้อ ซึ่งการดูแลทางด้านจิตใจเป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้การรักษาทางด้านร่างกายแต่มักถูกมองข้าม

  2. การประชุมกลุ่ม (craniofacial support group)
    โดยความคิดริเริ่มของรศ.นพ.นนท์ โรจน์วชิรนนท์ คุณปราณี ทรงเดชาไกรวุฒิ (นักสังคมสงเคราะห์) และคุณนันทนา ประชาฤทธิ์ภักดี (นักอรรถบำบัด) ได้จัดให้มีการประชุมกลุ่ม (support group) สำหรับผู้ที่มีความผิดปกติบนใบหน้าและศีรษะขึ้นในปี พ.ศ. 2546 นับเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยได้รับอนุมัติจากสภากาชาดไทยให้ดำเนินการภายใต้ “โครงการชีวิตนี้ยังมีหวัง”

  3. งานสนุกสุขสันต์วันพบปะ
    เป็นอีกกิจกรรมในโครงการชีวิตนี้ยังมีหวัง ในทุก ๆ ปีทางศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ จะจัดกิจกรรมที่มีทั้งบูทอาหาร เครื่องดื่ม การละเล่น การแสดงบนเวที หรือการพาผู้ป่วยและครอบครัวไปนอกสถานที่ เช่น สวนสนุก ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จัดให้ผู้ป่วยและครอบครัวได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน กิจกรรมสนุกสุขสันต์วันพบปะนี้เปรียบเสมือนเป็นวันเด็กของผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยและครอบครัวได้รับความสุขสนุกสนาน มีกำลังใจในการต่อสู้กับความผิดปกติของร่างกาย และสามารถมีชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความหวัง

การดูแลรักษาทางด้านสังคม

  1. การช่วยเหลือค่ารักษาผ่าตัด
    ทางศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ ดูแลค่าใช้จ่ายให้กับผู้ป่วยโดยอาศัยเงินบริจาคของประชาชน ทั้งค่าตรวจรักษาในแผนกอื่น ๆ ค่ารักษาพยาบาล ค่าเดินทาง ค่าเครื่องมือและอุปกรณ์การรักษา ค่าครองชีพ ค่าใช้จ่ายส่วนที่เกินสิทธิ์ ซึ่งผ่านการประเมินโดยนักสังคมสงเคราะห์ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายใด ๆ

  2. โครงการผู้ป่วยอิ่มท้อง เราอิ่มใจ
    เป็นโครงการที่เกิดขึ้นเพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายเรื่องอาหารกลางวันแก่ผู้ป่วยและญาติ ลดความกังวลใจของผู้ป่วยและญาติที่เกรงว่าจะเลยคิวพบแพทย์หากต้องไปรับประทานอาหารกลางวันเอง อีกทั้งเป็นการส่งเสริมการสร้างเครือข่ายผู้ป่วยและญาติได้มีโอกาสรับประทานอาหารร่วมกัน และได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์

  3. โครงการเกษตรเติมฝัน
    ทางศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ ได้ร่วมมือกับมูลนิธิมีชัย วีระไวทยะ โดยการรับสมัครผู้ป่วยที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป มาฝึกทักษะอาชีพทางการเกษตร จุดประสงค์ของโครงการคือลดภาวะการพึ่งพิงส่งเสริมความสามารถและศักยภาพของผู้ป่วยในการช่วยเหลือตนเองและเป็นแบบอย่างให้กับผู้ป่วยรายอื่น ๆ ได้มีกำลังใจในการรักษาพยาบาลและต่อสู้กับความผิดปกติและอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข เนื่องจากผู้ป่วยมักถูกมองว่าเป็นภาระของสังคมต้องการการพึ่งพิงและต้องให้ความช่วยเหลืออยู่ตลอดเวลาทั้งที่จริงแล้วผู้ป่วยต้องการโอกาสในการพิสูจน์ความสามารถของตนเองและการยอมรับจากสังคมมากกว่าความเมตตาหรือสงสาร

  4. โครงการหนึ่งทุน หนึ่งฝัน ปั้นอนาคต
    บริษัทกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์จำกัด (Gulf) และมูลนิธิพลังงานไทย สนับสนุนทุนการศึกษาให้กับผู้ป่วยของศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ ผู้ที่อยู่ในวัยเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงระดับอุดมศึกษา และครอบครัวมีฐานะยากจน เพื่อให้มีโอกาสเข้ารับการศึกษาในระดับสูงสุด สามารถนำความรู้มาประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัวตลอดจนส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้ป่วยได้ในที่สุด การคัดเลือกอาศัยคณะทำงานและครูประจำชั้นหรือตัวแทนจากโรงเรียนของผู้ถูกคัดเลือก

วัน/เวลา และสถานที่ให้บริการ

ศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ เปิดให้บริการวันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 08.00 – 16.00 น. เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ 

ออกตรวจผู้ป่วยนอกในวันจันทร์เวลา 09.00 – 15.30 น. เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์
(กรุณาโทรศัพท์นัดหมายล่วงหน้าก่อนมารับบริการ)

ข้อมูลติดต่อ

ชื่อฝ่าย/ศูนย์

ศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ
อาคาร สก. ชั้น 14

เบอร์โทรศัพท์หน่วยงาน

02 256 4330, 02 256 4914

โทรสารหน่วยงาน

02 256 5314

อีเมลหน่วยงาน

info@craniofacial.or.th

เฟซบุ๊กหน่วยงาน

ศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ จุฬาลงกรณ์

Line@

@thaicraniofacial

เว็บไซต์หน่วยงาน