แถลงข่าวการรักษาคุณ หัฒศนัย (วินัย) ไกรบุตร

วันที่ 5 กรกฎาคม 2562 โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย คณะผู้บริหาร แพทย์ พยาบาล พร้อมด้วยนายหัฒศนัย ไกรบุตร หรือคุณวินัย ไกรบุตร ร่วมแถลงข่าวการรักษาอาการป่วยอย่างเป็นทางการ โดยมี ศ.นพ.สุเทพ กลชาญวิทย์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ฝ่ายการแพทย์และวิจัย ศ.ดร.นพ.ประวิตร อัศวานนท์ หัวหน้าสาขาวิชาตจวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และฝ่ายอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ นางสาวเฉลาศรี เสงี่ยม หัวหน้าพยาบาล ร่วมแถลง และ ผศ.(พิเศษ)นพ.สุรินทร์ อัศววิทูรทิพย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ด้านภาพลักษณ์องค์กร ผู้ดำเนินการแถลงข่าว ณ ห้องประชุม 1210 อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

ทั้งนี้ ศ.ดร.นพ.ประวิตร อัศวานนท์ หัวหน้าสาขาวิชาตจวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และฝ่ายอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า โรคผิวหนังมีจำนวนหลายพันโรค เพราะผิวหนังเป็นอวัยวะที่อยู่ภายนอก เมื่อเกิด ผื่น ตุ่ม ฝี หรือมีร่องรอยต่างๆ มักจะเห็นได้ง่าย จึงทำให้มีการตั้งชื่อโรคผิวหนังต่างๆ มากมาย บางชื่ออาจไม่เป็นที่คุ้นหูมากนักสำหรับคนไทย อาทิ เพมฟิกอยด์ ทำให้เข้าใจว่าเป็นโรคใหม่ ทั้งๆ ที่จริงมีมานานแล้ว

ร่างกายของแต่ละคนมักมีโอกาสทำงานผิดปกติ โดยที่ตนเองไม่รู้ตัว อาจเนื่องมาจากสาเหตุที่ระบบอื่นๆ ในร่างกายเข้ามาจัดการควบคุมดูแลกันเอง ทำให้ไม่มีอาการแสดงออกมา ภูมิต้านทานของคนเรานั้นมีหน้าที่คอยต่อสู้กับเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอม และมะเร็ง คล้ายกับตำรวจ ทหาร ที่คอยปกป้องประเทศ ต้องฆ่าศัตรูโดยต้องไม่ทำร้ายประชาชนของตนเอง แต่บางครั้งภูมิต้านทานเหล่านี้ก็จำผิด เลยกลับมาทำอันตรายอวัยวะของตนเองทำให้เกิดโรค แพ้ภูมิ ตัวเองขึ้น

ในส่วนของโรคตุ่มน้ำพอง เป็นโรคผิวหนังเรื้อรังที่พบได้ไม่บ่อย แต่ก็ไม่ใช่โรคหายาก สาเหตุเกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันที่มาทำลายโครงสร้างที่ทำหน้าที่ยึดเซลล์ผิวหนัง ทำให้ผิวหนังหลุดออกจากกันกลายเป็นตุ่มน้ำและแผลถลอก รอยโรคสามารถพบได้ทั้งผิวหนังและเยื่อบุ โรคที่พบบ่อย มี 2 กลุ่ม ได้แก่ โรคเพมฟิกัสและโรคเพมฟิกอยด์

โรคเพมฟิกัส มักพบในช่วงอายุ 50-60 ปี มีความผิดปกติที่ชั้นผิวหนังกำพร้า จะเกิดในผิวหนังชั้นตื้นกว่า แต่อาจกินบริเวณกว้าง ผู้ป่วยจึงมีแผลเสมือนถูกน้ำร้อนลวกเป็นบริเวณกว้าง และผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีแผลถลอกในช่องปากร่วมด้วย  มีอาการเจ็บ และอาจพบแผลถลอกที่เยื่อบุบริเวณอื่นได้ เช่น ทางเดินหายใจ เยื่อบุช่องคลอดและอวัยวะเพศ ที่ผิวหนังมีลักษณะเป็นตุ่มน้ำ แตกได้ง่าย กลายเป็นแผลถลอก มีอาการปวดแสบมากเมื่อแผลหายมักทิ้งรอยดำโดยไม่เป็นแผลเป็น

 

โรคเพมฟิกอยด์พบได้บ่อยกว่าโรคเพมฟิกัส มักพบในอายุมากกว่า 60 ปี หรือผู้สูงอายุเกิดจากมีการหลุดลอกของชั้นหนังกำพร้าออกจากชั้นหนังแท้ จะเกิดการแยกชั้นของผิวหนังที่ลึกกว่า แต่ก็มักจะกินบริเวณไม่กว้างมากนัก ผู้ป่วยมักมาด้วยอาการผื่นแดงคันนำมาก่อน ต่อมาเริ่มมีตุ่มน้ำใสขนาดต่างๆ กัน โดยตุ่มน้ำมีลักษณะพอง แตกยากหรืออาจแตกออกเป็นแผลถลอก รอยโรคที่เยื่อบุพบได้น้อยกว่าโรคเพมฟิกัส และมักไม่เจ็บ โดยทั่วไปความรุนแรงของโรคมักน้อยกว่าเพมฟิกัส

โรคตุ่มน้ำพองมักต้องอาศัยการตรวจชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยาร่วมกับการตรวจทางอิมมูนเรืองแสงในการวินิจฉัยโรคด้วย ยาที่ใช้รักษาเป็นหลักคือยาคอร์ติโคสเตียรอยด์และยากดภูมิคุ้มกัน ในโรคเพมฟิกอยด์ที่มีอาการไม่รุนแรง อาจใช้ยาทาคอร์ติโคสเตียรอยด์หรือยากลุ่มที่ไม่ใช่ยากดภูมิคุ้มกัน ในรายที่ตุ่มน้ำหรือแผลถลอกมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน อาจจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วย โรคตุ่มน้ำพองมีการดำเนินโรคค่อนข้างเรื้อรังเป็นเวลาหลายเดือนหรือหลายปี หลังจากโรคสงบแล้วอาจเป็นซ้ำได้ ในกรณีที่สงสัยว่าจะเป็นโรคตุ่มน้ำพอง แนะนำให้รีบไปพบแพทย์เพื่อจะได้รับการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้อง ซึ่งจะช่วยลดโอกาสการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรค

คำแนะนำในการปฏิบัติตัวเมื่อเป็นโรค ควรทำความสะอาดร่างกายอย่างสม่ำเสมอ บริเวณที่เป็นแผลให้ใช้น้ำเกลือ(Normal saline)ทำความสะอาด ไม่แกะเกาผื่นเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ ผู้ป่วยที่มีแผลในปาก ควรงดอาหารรสจัด งดรับประทานอาหารแข็ง เช่น ถั่ว ปลาแห้ง ของขบเคี้ยว เนื่องจากอาจกระตุ้นการหลุดลอกของเยื่อบุในช่องปาก หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหนักๆ ไม่ควรใส่เสื้อผ้ารัดคับ เพื่อลดการถลอกที่ผิวหนัง หลีกเลี่ยงแสงแดด และความเครียด ซึ่งเป็นปัจจัยกระตุ้นที่สำคัญ

ทั้งนี้ ผู้ป่วยต้องมารักษาต่อเนื่องมาตามแพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอ ทานยาต่อเนื่อง ไม่ควรลดหรือเพิ่มยาเองและดูแลรักษาแผลอย่างถูกวิธี จะช่วยให้โรคสงบได้เร็วขึ้น ทำให้ผู้ป่วยสามารถดำรงชีวิตได้เหมือนคนปกติทั่วไป ไม่มีรอยโรคใหม่เกิดขึ้น