กลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข (RESTLESS LEGS SYNDROME: RLS) และโรคภาวะขากระตุกขณะหลับ (PERIODIC LIMB MOVEMENT DISORDER: PLMD)

คุณเคยมีอาการเหล่านี้ไหม

  • ถ้าไม่ขยับขาจะรู้สึกว่ามีตัวแมลง, หนอนไต่ที่ขา
  • ขารู้สึกว่าต้องการวิ่ง และฉันต้องทำตาม
  • เมื่อไปนอนมีความรู้สึกว่ามีตัวอะไรมาจับขาแกว่งไปมา
  • มักจะเป็นในเวลาเข้านอนกลางคืน

อาการเหล่านี้เป็นอาการที่แปลกประหลาด และพบบ่อยในผู้ป่วยกลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข (RLS)

กลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข (Restless Legs Syndrome: RLS)

โรคนี้พบได้ในผู้มีสุขภาพแข็งแรง แต่บางครั้งพบร่วมกับโรคอื่นๆ เช่น ไตวายเรื้อรัง โรคซีด เป็นต้น โดยทำให้การนอนและคุณภาพชีวิตแย่ลง นอนหลับยาก โรคนี้มักมีอาการที่ขาแต่สามารถเกิดขึ้นกับส่วนอื่นๆได้เช่นกัน ผู้ป่วยจะรู้สึกเหมือนมีตัวอะไรมาไต่ที่ขา มักไม่มีอาการเจ็บปวดหรือชา แต่ในบางรายอาจมีอาการปวดได้

นอกจากความง่วงตอนกลางวัน ยังมีปัญหาในเรื่องรบกวนในการเดินทาง ทางรถ เรือ หรือเครื่องบิน ที่ต้องใช้เวลานานและนั่งอยู่เฉยๆ เพราะผู้ป่วยจะทนอยู่นิ่งไม่ได้ อาการจะมีอยู่ไม่ว่าจะอยู่ในห้องเรียน โรงภาพยนต์ ฟรือห้องประชุม ซึ่งอาจนำไปสู่ถาวะซึมเศร้าและวิตกกังวลได้

โรคภาวะขากระตุกขณะหลับ (Periodic Limb Movement Disorder: PLMD)

มีอาการขยับขาขณะหลับ คุณภาพการนอนและความสามารถในการทำงานลดลง ต่างจาก RLS ที่โรคนี้ไม่มีอาการที่รู้สึกว่ามีตัวอะไรมาไต่ที่ขา หรืออยากขยับขา แต่ PLMD จะมีอาการขากระตุกขณะหลับซึ่งได้ประวัติจากคู่นอน การกระตุกขาขณะหลับเรียกว่า periodic limb movements of sleep (PLMS)

PLMS มักมีอาการที่ขาแต่สามารถเกิดขึ้นกับส่วนอื่นๆได้ มักเกิดขึ้นในช่วงครึ่งคืนแรกของการนอน หากมีการขยับขาตั้งแต่ 5 ครั้งขึ้นไปต่อชั่วโมง อาจทำให้นอนหลับได้ไม่สนิท ผู้ป่วยอาจตื่นตอนกลางคืนหลายครั้งจากการที่ขากระตุก แต่บางรายก็อาจไม่รู้ถึงการตื่น ผู้ป่วยจะมีคุณภาพการนอนที่แย่ลง ง่วงมากตอนกลางวัน การวินิจฉัยจำเป็นต้องตรวจการนอนหลับ แต่การกระตุกของขาขณะหลับ (PLMS) อาจเกิดจากโรคจากการหลับอื่นได้ เช่นโรคหยุดหายใจขณะหลับชนิดอุดกั้น (OSA)

ผู้ป่วยจะมีอาการรุนแรงขึ้นขณะตั้งครรภ์โดยเฉพาะช่วง 2ไตรมาสหลัง ผู้ป่วยอายุน้อยกว่า 30 ปีพบได้น้อย 1ใน3ผู้ป่วยอายุ 50-65ปี และเกือบครึ่หนึ่งของผู้ป่วยอายุกว่า65 ปี พบได้ทั้งในชายและหญิงเท่าๆกัน

สาเหตุของโรค

RLS ประมาณ 30%ของผู้ป่วยมีประวัติของโรคในครอบครัว โดยในกลุ่มที่มีประวัติในครอบครัวมักเริ่มมีอาการเร็วกว่าผู้ไม่มีประวัติในครอบครัว (ก่อนอายุ 45 ปี) โรคนี้มีความสัมพันธ์กับโรคอื่น เช่น โลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก โรคไต กล้ามเนื้อผิดปกติ ขาดสารอาหารบางชนิด ภาวะที่กระตุ้นให้เกิดRLSได้เช่นสูบบุหรี่ อดนอน การใช้ยาบางชนิด

การวินิจฉัยโรค

RLS วินิจฉัยได้จากการซักประวัติไม่จำเป็นต้องตรวจการนอนหลับ อาการจะดีขึ้นเมื่อขยับขา แย่ลงในช่วงกลางคืน


PLMS & PLMD วินิจฉัยได้จากการตรวจการนอนหลับแล้วพบว่าการกระตุกของขาและไม่ได้เป็นโรคจากการหลับอื่นๆ

การรักษา

รักษาโรคที่เป็นสาเหตุ เช่น การให้ธาตุเหล็กเพื่อรักษาภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก
การใช้ยาเพื่อเพิ่มสาร dopamine ในระบบประสาท เช่น pramipexole

บทความโดยคณะแพทย์ศูนย์นิทราเวช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
(ดัดแปลงจากบทความของสมาคมแพทย์โรคจากการหลับแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา)