พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัยการแพทย์แม่นยำ (Precision Medicine) สำหรับผู้ป่วยมะเร็งเต้านม

ข่าวประชาสัมพันธ์

ศูนย์สิริกิติ์บรมราชินีนาถ สภากาชาดไทย และ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกันพัฒนาการวิจัยการแพทย์แม่นยำ (Precision Medicine) สำหรับผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ซึ่งเป็นการรักษาแบบแม่นยำและจำเพาะ โดยอาศัยข้อมูลทางพันธุกรรมหรือข้อมูลในระดับโมเลกุลมาใช้ในการตรวจวินิจฉัย การเลือกรูปแบบ การรักษา การเลือกใช้ยา รวมถึงการป้องกันโรคและสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อประโยชน์ในการดูแลรักษาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพและลดโอกาสในการกลับเป็นซ้ำอีก 

เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2561 ณ ห้องประชุมศูนย์สิริกิติ์บรมราชินีนาถ ชั้น 9 อาคารว่องวานิช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์   สภากาชาดไทย  นายแผน วรรณเมธี เลขาธิการสภากาชาดไทย เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัยการแพทย์แม่นยำ (Precision Medicine) สำหรับผู้ป่วยมะเร็งเต้านม โดยมี นายแพทย์กฤษณ์ จาฏามระ หัวหน้าศูนย์สิริกิติ์บรมราชินีนาถ สภากาชาดไทย นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมด้วย นายแพทย์สมชาย แสงกิจพร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศษสตร์การแพทย์ และนายแพทย์อธิศพันธุ์ จุลกทัพพะ ศัลยแพทย์ ศูนย์สิริกิติ์บรมราชินีนาถ สภากาชาดไทย ร่วมลงนาม

โดยความร่วมมือดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันพัฒนาการวิจัยการแพทย์แม่นยำ (Precision Medicine) สำหรับผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ซึ่งเป็นการรักษาแบบแม่นยำและจำเพาะ โดยอาศัยข้อมูลทางพันธุกรรมหรือข้อมูลในระดับโมเลกุลมาใช้ในการตรวจวินิจฉัย การเลือกรูปแบบการรักษา การเลือกใช้ยา การป้องกันโรคและสร้างเสริมสุขภาพ ความร่วมมือระหว่าง 2 หน่วยงานในครั้งนี้ นับเป็นการส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ส่งผลให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการวินิจฉัยโรคและรักษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านมในประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้ผู้ป่วยมีชีวิตยืนยาวขึ้นและลดโอกาส  ในการกลับเป็นซ้ำได้อีก โดยเฉพาะในรายที่เป็นมะเร็งระยะเริ่มแรก และพัฒนาศักยภาพการรักษาพยาบาลของประเทศ นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย สนองนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ นายแพทย์สุขุม กล่าวว่า โรคมะเร็งนับเป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุขของมนุษยชาติ ในแต่ละปีจะมีผู้ป่วยใหม่โรคมะเร็งมากกว่า 11 ล้านคนจากทั่วทุกมุมโลก และคาดการณ์ว่าในปี พ.ศ.2563 จะมีผู้ป่วยมะเร็งมากถึง 16 ล้านคน  สำหรับประเทศไทยในแต่ละปีมีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่กว่า 120,000 ราย และมีผู้ป่วยที่เสียชีวิตมากกว่า 60,000 ราย พบว่ามะเร็งเต้านมเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของผู้หญิงไทยและมีแนวโน้มอุบัติการณ์เพิ่มสูงขึ้นทุกปี กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่มีบทบาทสำคัญในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อแก้ไขปัญหาสาธารณสุขของประเทศ ดังนั้นเพื่อให้ผลงานนวัตกรรมทางห้องปฏิบัติการ   สามารถนำไปสู่การใช้ประโยชน์ จึงได้ร่วมมือทำข้อตกลงกับ ศูนย์สิริกิติ์บรมราชินีนาถ สภากาชาดไทย    ซึ่งเป็นศูนย์มะเร็งเต้านมครบวงจรตรวจรักษาด้วยทีมสหสาขาวิชาชีพ และเครื่องมือที่ทันสมัยที่สุด พร้อมทั้งพัฒนาศักยภาพอย่างต่อเนื่องด้วยมาตรฐานระดับโลก เพื่อเป็นที่พึ่งของผู้หญิงไทยอย่างแท้จริง ร่วมผลักดันให้เกิดการวิจัย  และพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการตรวจในระดับยีนส่วนบุคคล ซึ่งมีประโยชน์ในการวินิจฉัยโรคติดตามผลการรักษา ติดตามการกลับเป็นซ้ำของผู้ป่วยภายหลังเข้ารับการรักษาและใช้เป็นแนวทางในการเลือกยาที่เหมาะสม  สำหรับผู้ป่วยแต่ละราย ช่วยลดการใช้ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) โดยไม่จำเป็น รวมถึงการพัฒนาวิธีรักษาผู้ป่วย       โดยใช้เซลล์ภูมิคุ้มกันบำบัดตามข้อกำหนดมาตรฐานสากล ซึ่งเป็นความหวังใหม่ในการรักษาและพัฒนาคุณภาพชีวิต   ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น