กำเนิดโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

 

เมื่อปีพระพุทธศักราช ๒๔๐๑ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แหลมอินโดจีนเริ่มถูกคุกคามเอกราชจากการล่าอาณานิคมเป็นเมืองขึ้นของประเทศมหาอำนาจ คือ ฝรั่งเศสและอังกฤษ  ทำให้ประเทศไทยสูญเสียการปกครองเขมรให้กับฝรั่งเศสในปี พ.ศ. ๒๔๐๖

สงครามการล่าอาณานิคมปะทุขึ้นอีกครั้งในปี พ.ศ. ๒๔๓๕ เมื่อประเทศฝรั่งเศสได้ส่งกำลังทหารบุกประเทศลาวซึ่งขณะนั้นอยู่ในการปกครองของไทย จึงเกิดปะทะกันขึ้นจนทำให้นายทหารฝรั่งเศสนายหนึ่งเสียชีวิต  ฝรั่งเศสจึงใช้เหตุนี้เป็นอุบายเงื่อนไขในการรุกรานยึดครองดินแดนไทย  เมื่อไทยตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบทางยุทธวิธี จึงขอร้องให้อังกฤษเข้ามาช่วยไกล่เกลี่ยแต่กลับถูกปฏิเสธ ไทยจึงถูกละทิ้งให้โดดเดี่ยว ส่งผลให้กลิ่นไอสงครามคุกรุ่นไปทั่วสยาม  ดังคำกราบบังคมทูลของท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ เมื่อวันที่ ๑๓ เมษายน พ.ศ. ๒๔๓๖ ความว่า

 บัดนี้ได้ทราบเกล้าว่า ฝ่ายนอกที่มีอำนาจปราศจากธรรมะ ทำการข่มขู่ด้วยอุบายต่างๆ จะแย่งชิงส่วนพระราชอาณาเขต เป็นเหตุให้พระมหาเศวตรฉัตรต้องสะดุ้งสะเทือนทั้งเกียตริยศและอิสรภาพของพระราชอาณาจักรจะเสื่อมทรามไป

ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ จึงชักชวน “วงศาญาติบุตรหลานและมิตรสหายทั้งเพื่อนหญิงที่รักชาติ” เรี่ยไรออกทรัพย์ตามแต่ศรัทธา ตั้งขึ้นเป็น “สภาอุณาโลมแดง”   เพื่อช่วยเหลือชาติบ้านเมือง ให้การรักษาพยาบาลแก่ ทหารบก ทหารเรือ และประชาชนผู้บาดเจ็บในยามสงคราม รวมทั้งจัดซื้อยาและสิ่งของที่ควรแก่การพยาบาลส่งไปทุกกองทัพ  จากนั้นจึงกราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี เป็น “ชนนีผู้บำรุงการ” พระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวีเป็น “สภานายิกา”  สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาพระบรมราชเทวีทรงนำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงมีพระราชกระแสรับสั่งตอบว่า “เห็นว่าเป็นความคิดอันดี ซึ่งต้องด้วยแบบอย่างประเทศทั้งปวง” จึงทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้ง  “สภาอุณาโลมแดงแห่งชาติสยาม” เมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๓๖ ถือเป็นวันกำเนิดสภากาชาดไทย

พระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี องค์สภานายิกา  ทรงกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมเดชานุภาพ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ รับเป็น “ ทานมยูปถัมภก” (หรือองค์บรมราชูปถัมภก) แห่งสภาฯ  เมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๓๖  และทรงพระราชทานเงินส่วนพระองค์เป็นทุนในครั้งแรกจำนวน ๘๐,๐๐๐ บาท  อีกทั้งยังทรงมีพระราชหัตถเลขาสำแดงพระราชหฤทัยให้เป็นที่เชื่อมั่นหมายแก่สภาอุณาโลมแดง ว่า “ชีวิตและทรัพย์สินของฉันกับกรุงสยามนี้ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมิได้มีความหวงแหนเลย”  นอกจากนี้ยังทรงมีพระบรมราชโองการเวนคืนที่วังของกรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศเพื่อจัดสร้างเป็นโรงพยาบาลสภาอุณาโลมแดง ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๓๖ เป็นการเร่งด่วนทันที

ในขณะเวลานั้นสถานการณ์ความขัดแย้งทรุดลง เมื่อทางฝรั่งเศสเห็นว่าไทยเสียเปรียบทั้งการทูตและการรบ จึงส่งทูตพิเศษผู้มีอำนาจเต็มพร้อมกับเรือรบมาจอดรอที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อเจรจากับรัฐบาลไทยในวันที่  ๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๓๖  ทำให้เกิดความเข้าใจผิดจึงเกิดการสู้รบขึ้น มีทหารไทยบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก สภาอุณาโลมแดงแห่งชาติสยามจึงจัดตั้งโรงพยาบาลขึ้นเป็นการฉุกเฉินทันที ที่วัดมหาธาตุ เพื่อดูแลรักษาทหารและประชาชนผู้บาดเจ็บ   ทางฝรั่งเศสยื่นคำขาดให้ไทยตอบตกลงยินยอมยกดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้ฝรั่งเศสทั้งหมดภายใน 48 ชั่วโมงแต่ไม่เป็นผลสำเร็จ ฝรั่งเศสจึงส่งเรือรบมาปิดปากอ่าวเมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๓๖ ทำให้ฝ่ายไทยต้องยินยอม และตกลงทำสัญญามอบดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงทั้งหมดให้กับฝรั่งเศสในวันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๓๖ เป็นการสูญเสียดินแดนมากถึง ๑๔๓,๘๐๐ตารางกิโลเมตร เสียพลเมืองกว่า ๖๐๐,๐๐๐ คน และเบี้ยปรับอีก ๓ ล้านฟรังก์ ซึ่งต้องชดใช้ด้วยเงินสะสมของในหลวงรัชกาลที่ ๓ ทั้งหมด เรียกว่า “เงินถุงแดง” ที่ไว้สำหรับไถ่บ้านไถ่เมือง

ครั้นสงครามสงบลง โรงพยาบาลสภาอุณาโลมแดงยังคงกิจการรักษาพยาบาลแก่ประชาชนเรื่อยมา โดยมีแพทย์หลวงจากกรมพยาบาลมาตรวจรักษา แต่เนื่องจากมีที่ตั้งติดกับบริเวณจัดสร้างพระเมรุมาศในสมเด็จพระบรมโอสราธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ที่ทรงสวรรคตลง จึงจำเป็นต้องหยุดกิจการ  นับเป็นเวลาเปิดทำการอยู่นานราว ๗ ปี ส่วนสภาอุณาโลมแดงแห่งชาติสยามนั้น ยังคงดำเนินกิจการอยู่ดังเดิม

เมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๙ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชหัตถเลขาถึง พระราชโอรส กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ ความว่า “ ….. สภาอุณาโลมแดงในกรุงนี้สงบเงียบหายไปเสียแล้ว ให้กรมยุทธนาธิการคิดจัดทั้งที่จะให้การเดินไป และที่จะแต่งตั้งผู้แทนไปประชุมเรื่องนี้ด้วย” ต่อมาจึงทรงเสด็จพระราชดำเนินไปรักษาพระอาการประชวร ณ ประเทศยุโรปกรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช ทรงกราบบังคมทูล สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ผู้สำเร็จราชการรักษาพระนครในเวลานั้นว่า

…… เวลานี้จึงเห็นเป็นไปว่า สภาอุณาโลมเงียบสงบไปเสียแล้ว แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถยังทรงพระกรุณาอุปถัมภ์การของสภาอุณาโลมนี้อยู่เสมอ…….เมื่อโปรดเกล้าให้ข้าพระพุทธเจ้าเป็นผู้ดำริห์ในการที่จะจัดฟื้นสภาอุณาโลมนี้ขึ้นนั้น พระเดชพระคุณล้นเกล้าหาที่สุดมิได้ ข้าพระพุทธเจ้าจะได้กระทำการนี้โดยน้ำใจสุจริตยินดี ……ในที่จะจัดให้สภาอุณาโลมนี้ต่อไปภายหน้า มีทางจะทำได้ให้เป็นการถาวรมั่นคง คือ  หาที่ตั้งขึ้นเป็นโรงพยาบาลของสภาอุณาโลมแดงนี้เสียก่อน…..”

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงตรัสในที่ประชุมเสนาบดีสภา วันที่ ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๐ ว่า “พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์ จะให้จัด (สภาอุณาโลมแดงฯ) ขึ้นไว้ให้มั่นคงสำหรับบ้านเมือง” แต่ก็ยังไม่ทันได้ดำเนินการ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพลันทรงเสด็จสวรรคตเสียก่อน ในวันอาทิตย์ที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ เวลา ๒.๔๕ นาฬิกา ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต สิริพระชนมายุได้ ๕๗ พรรษา

จากนั้นเมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๓ เป็นเวลาครบ ๑ เดือนหลังการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานเงินส่วนพระองค์จำนวน ๕,๘๐๐ บาท เพื่อใช้จัดตั้งโรงพยาบาลสภาอุณาโลมแดง ทำให้พระราชโอรสพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทุกพระองค์จึงทรงพร้อมพระทัยกันร่วมพระราชทานทรัพย์สมทบรวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๑๒๒,๙๑๐ บาท และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานเงินของสภาอุณาโลมแดงที่มีอยู่ทั้งหมด ๓๙๑,๒๕๙ บาท ๙๘ สตางค์เข้าสมทบเพิ่มเติม ซึ่งในจำนวนนี้มีเงินพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแต่แรกตั้งสภาอุณาโลมแดงอยู่เป็นจำนวนถึง ๘๐,๐๐๐ บาท และเพื่อให้การนี้สำเร็จได้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ จอมพลพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช เสนาบดีกระทรวงกลาโหม พระราชโอรสองค์ที่ ๑๗ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รับหน้าที่ดำเนินการจัดสร้างโรงพยาบาลฯ จนสำเร็จสมบูรณ์ นับเป็นโรงพยาบาลที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดของประเทศ ณ เวลานั้น

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเสด็จพระราชดำเนินเปิดโรงพยาบาลเมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม  ปีพระพุทธศักราช ๒๔๕๗ พร้อมกับทรงมีพระราชดำรัสตอบในการเปิดโรงพยาบาลว่า

 ในการบำเพ็ญกุศลถวายสมเด็จพระบรมชนกนาถนั้น ย่อมต้องระลึกดูว่า จะทำการอย่างใด จึงจะเป็นที่พอพระราชหฤทัย เราและพี่น้องจะฉลองพระเดชพระคุณได้ในทางใด หรือถึงแม้เสด็จสวรรคตล่วงลับไปแล้ว ถ้ามีวิธีใดที่จะทำให้ทราบถึงพระองค์ได้นั้น การอย่างใดจะเป็นที่พอพระราชหฤทัย เมื่อระลึกดูดังนี้ก็เห็นได้ว่า ตลอดเวลารัชกาลพระบาทสมเด็จพระบรมชนกนาถย่อมพอพระราชหฤทัยในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินที่ทรงปกครอง  สิ่งไรทำขึ้นให้นำมาซึ่งความสุขความสำราญแก่ประชาชน สิ่งนั้นย่อมพอพระราชหฤทัยยิ่งนัก….จึงตกลงกันว่า ถ้าสร้างโรงพยาบาลขึ้นเป็น “ราชานุสาวรีย์” คงจะเป็นที่พอพระราชหฤทัยเป็นแน่แท้

การจัดสร้างโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์แห่งสภากาชาดไทยนี้ได้สำเร็จลุล่วงตามพระราชปณิธานแห่งพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ถึง ๒ พระองค์ เป็นพระวิริยะอุตสาหะอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานถึง ๑๘ ปี (พ.ศ. ๒๔๓๖-๒๔๕๔) กว่าจะได้จัดสร้างจนสำเร็จลุล่วง จึงทรงพระราชทานนามโรงพยาบาลแห่งสภาฯ นี้ใหม่ว่า

“โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์”  

  “พระราชานุสาวรีย์” แห่ง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

เพื่อน้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ต่อแผ่นดินไทย…..สืบไปตลอดกาลนาน

  

ผศ.นพ.ถนอม บรรณประเสริฐ

ผู้เรียบเรียงและบันทึกประวัติศาสตร์

๒๓ มกราคม ๒๕๖๑


ลำดับเหตุการณ์เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดตึกในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์