รศ.นพ.โศภณ นภาธร ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ

จากสรุปผลการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันอังคารที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2560 ได้มีมติเห็นชอบในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ 3 เรื่อง ซึ่งหนึ่งใน 3 เรื่องของมติ ครม. ครั้งนี้ถือเป็นเกียรติประวัติของชาวแพทย์จุฬาฯ ก็ว่าได้ เมื่อ รศ.นพ.โศภณ นภาธร อดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ

รศ.นพ.โศภณ นภาธร  ได้เล่าถึงจุดเริ่มต้นที่ได้เข้ามามีบทบาททางการเมืองในรัฐบาลชุดนี้ว่า หลังจากที่มีโอกาสพบปะพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกับ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งท่านก็เป็นแพทย์ จุฬาฯ เหมือนกัน ประกอบกับโดยส่วนตัวนอกจากเรื่องการแพทย์และสาธารณสุขแล้ว เรื่องการศึกษาก็เป็นศาสตร์อีกแขนงหนึ่งที่มีความสนใจ จึงเข้ามาทำงานกับ รมว.ธีระเกียรติ และได้รับมอบหมาย ให้กำกับดูแลงานด้านอุดมศึกษาร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ซึ่งเป็นการทำงานในเชิงนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศ รศ.นพ.โศภณ กล่าวถึงเรื่องที่เป็นประเด็นสำคัญในแวดวงอุดมศึกษาที่จะต้องดำเนินการแก้ไขโดยเร็ว ดังที่ปรากฎเป็นข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์อย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาที่ผ่านมา นั่นคือ ปัญหาเรื่องธรรมาภิบาลของผู้บริหาร ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการปรึกษาหารือเพื่อหาแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขเพื่อสร้างความโปร่งใสในการทำงานและไม่ให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อนรวมไปถึงเรื่องการปรับเกณฑ์การเข้าสู่ตำแหน่งวิชาการ ได้แก่ ศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เนื่องจากบริบททางสังคมในปัจจุบันที่เปลี่ยนไปจึงไม่อาจจะเน้นเพียงเรื่องงานวิจัยหรือการเขียนตำราและหนังสือเท่านั้น แต่จะต้องสามารถใช้ผลงานอื่นเทียบเคียงเพื่อขอตำแหน่งวิชาการได้ เช่น ผลงานเชิงนวัตกรรม หรือผลงานเชิงบริการ อันจะเป็นประโยชน์ต่อมหาวิทยาลัย และอาจารย์ที่ทำงานในสายงานเหล่านี้ที่จะได้รับการส่งเสริมเพื่อต่อยอดทางวิชาชีพให้ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น และพัฒนาผลงานที่ช่วยแก้ปัญหาและสร้างประโยชน์ต่อสังคมได้อย่างแท้จริง งานด้านประกันคุณภาพการศึกษาก็สมควรได้รับการปรับปรุงให้การปฏิบัติมีความสะดวก เรียบง่ายมากขึ้นกับทุกฝ่าย และให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น

 

รศ.นพ.โศภณ กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันในแต่ละปีมีบัณฑิตจบใหม่และว่างงานเป็นจำนวนมาก แต่ในขณะเดียวกันก็มีตำแหน่งงานว่างอยู่

จำนวนไม่น้อย ซึ่งชี้ให้เห็นว่า บัณฑิตยุคใหม่ไม่ได้จบการศึกษาในสายงานที่ตรงกับความต้องการของสังคมยุคปัจจุบัน เพราะฉะนั้นมหาวิทยาลัยต่างๆ จึงจำเป็นต้องเร่งปรับยุทธศาสตร์ของตนเอง อาทิ สาขาวิชาใดที่ยังขาดแคลนในตลาดแรงงานของประเทศก็ต้องได้รับการส่งเสริม ส่วนสาขาวิชาใดที่แรงงานล้นตลาดอาจต้องมีการปรับลดลง เพื่อลดจำนวนบัณฑิต ว่างงานในอนาคต ทั้งนี้เพื่อให้มหาวิทยาลัยสามารถผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพและตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน ซึ่งจะส่งผลต่อการเพิ่มศักยภาพการทำงานของประเทศ รวมถึงจะต้องบริหารจัดการปัญหา และปรับทิศทางการสอนให้กับอาจารย์ในสาขาวิชาที่จำเป็นต้องปรับลดด้วย นอกจากนี้ยังต้องพัฒนางานของ สกอ. ในด้านต่างๆ เช่น ความรวดเร็วในการทำงานการเป็นศูนย์กลางข้อมูลด้านอุดมศึกษาของประเทศที่ทันสมัยครบถ้วนสมบูรณ์

 

สำหรับความประทับใจที่มีต่อ “จุฬาฯ” นั้น รศ.นพ.โศภณ กล่าวว่า การได้ทำงานให้กับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และ รพ.จุฬาฯ ถือเป็น โอกาสอันดียิ่งที่ได้ตอบแทนบุญคุณสถาบันที่เรารัก และปัจจุบันก็เห็นได้ชัดเจนว่าทั้ง 2 หน่วยงานเจริญก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องความสำเร็จต่างๆ เหล่านี้ไม่อาจเกิดขึ้นได้เพียงเพราะผู้บริหารยุคเดียวสมัยเดียวแต่เป็นความดีที่ได้สานต่อกันมาทุกยุคทุกสมัย ดังนั้นสิ่งที่อยากฝากถึงชาวจุฬาฯ ทั้งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็คือ การตระหนักถึงหน้าที่สำคัญของตนเองที่จะต้องทำให้ดีที่สุดสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่เราจะสามารถทำได้ เพราะความภาคภูมิใจที่เกิดขึ้นนั้นไม่ได้เกิดขึ้นจากผู้คนกล่าวยกย่องชื่นชม แต่ความภาคภูมิใจที่แท้จริง คือการได้ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมต่างหากสุดท้ายนี้ รศ.นพ.โศภณ ได้ฝากข้อคิดไว้ให้กับชาวจุฬาฯ ว่าสถาบัน “จุฬาฯ” ทั้ง 2 องค์กร มีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถมากมาย ความท้าทายในการทำงานจึงอยู่ที่การรวมพลังคนเก่งให้ไปในทิศทางเดียวกัน นำปัญหาสำคัญของประเทศมาเป็นโจทย์ ด้วยการกำหนดแผนงานให้ชัดเจน ทำงานเป็นทีมเพื่อก้าวไปข้างหน้าให้ไกลกว่าเดิม นอกจากนี้ยังต้องแข่งขันกับตัวเอง เพราะการหยุดนิ่งเท่ากับถอยหลัง ดังนั้นแล้วการพัฒนาในยุคนี้จึงต้องร่วมกันคิด ร่วมกันทำและผลักดันสิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้นเพื่อตอบแทนบุญคุณของสังคม บุญคุณของแผ่นดินและร่วมกันนำพาประเทศชาติให้ก้าวต่อไปอย่างมั่นคงและยั่งยืน