ผศ.พญ.ภาวิณี ฤกษ์นิมิตร กับรางวัลศูนย์วิจัยทางคลินิกดีเด่น

จากความสำเร็จสูงสุดระดับประเทศของศูนย์วิจัยทางคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Chula Clinical Research Center: Chula CRC) ที่เพิ่งคว้ารางวัลศูนย์วิจัยทางคลินิกดีเด่น “Outstanding Clinical Research Center 2016” เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2559 ซึ่งนับเป็นรางวัลการันตีคุณภาพถึง 2 ปีซ้อน  ผศ.พญ.ภาวิณี ฤกษ์นิมิตร ผู้อำนวยการร่วมศูนย์วิจัยทางคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สำหรับที่มาของรางวัล Outstanding Clinical Research Center นั้น ได้เกิดขึ้นในการประชุมประจำปี โดย Thailand Towards Excellence in Clinical Trail (ThaiTECT) ซึ่งทุกปี คณะกรรมการฯ จะสำรวจความพึงพอใจของผู้ใช้บริการศูนย์วิจัยทางคลินิก ได้แก่ บริษัทยา และบริษัทรับทำการวิจัยทั้งในและต่างประเทศ (Contract Research Organization: CRO) เพื่อมอบรางวัลให้กับศูนย์วิจัยทางคลินิกที่มีการทำงานมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 17 ศูนย์ทั่วประเทศ เรียกได้ว่าเป็นรางวัลสูงสุดของการวิจัยทางคลินิก ทั้งยังเป็นการการันตีคุณภาพสร้างความน่าเชื่อถือให้กับศูนย์วิจัยทางคลินิกที่ได้รับรางวัลนี้ด้วย ผศ.พญ.ภาวิณี ฤกษ์นิมิตร ผู้อำนวยการร่วมศูนย์วิจัยทางคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่ามาตรฐาน 4 ด้านที่เป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนาศักยภาพศูนย์วิจัยทางคลินิก ได้แก่ ด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource), ด้านเครื่องมือและสิ่งอำนวยความสะดวก (Facilities & Equipments), ด้านราคาที่สมเหตุสมผล (Budget) และด้านมาตรฐานในกระบวนการทำงาน (Standard of Procedure: SOP) ซึ่งการพัฒนาที่ครอบคลุมตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว ทำให้ได้รับรางวัลศูนย์วิจัยทางคลินิกดีเด่นถึง 2 ปีซ้อน (ปี 2558-2559) ไม่เพียงแต่ประโยชน์ด้านการการันตีมาตรฐานและส่งเสริมภาพลักษณ์ของศูนย์วิจัยทางคลินิกเท่านั้น

เพราะงานวิจัยไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินความสามารถของชาวจุฬาฯ ทุกท่าน งานวิจัยจึงเป็นสิ่งท้าทาย

ผศ.พญ.ภาวิณี ฤกษ์นิมิตร กล่าวว่า รางวัลนี้ยังมีความสำคัญทั้งในระดับสังคมและประเทศชาติ เมื่อศูนย์วิจัยทางคลินิกสามารถพัฒนาศักยภาพในการทำงานได้มากขึ้น ส่งผลให้เกิดงานวิจัยที่ช่วยผลิตยาคุณภาพต้นทุนต่ำลง ประชาชนสามารถเข้าถึงยาใหม่ที่มีคุณภาพได้ง่ายขึ้นและสามารถลดภาระของรัฐบาลในการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลในโรคที่ซับซ้อนและต้องใช้ยาราคาแพง ซึ่งถือเป็นการพัฒนาวงการสาธารณสุขไทย อีกทั้งยังส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้เกิดการจ้างงานด้านบริการงานวิจัยเพิ่มขึ้น ดึงดูดการลงทุนด้านการวิจัยยาจากต่างชาติอีกด้วยสำหรับโครงการสำคัญที่กำลังจะพัฒนาต่อเนื่องในเร็วๆ นี้ ผศ.พญ.ภาวิณี ฤกษ์นิมิตร กล่าวว่า ได้มีแผนงานลงนามความร่วมมือกับบริษัท ควินไทล์ส (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะ Contract Research Organization รายใหญ่ ส่งผลให้ศูนย์วิจัยทางคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นศูนย์วิจัยทางคลินิกหลัก (Prime Site) แห่งที่ 2 ของเอเชีย ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องเตรียมพร้อมกับงานวิจัย Clinical Trial จะเข้ามามากขึ้นด้วย อีกหนึ่งประเด็นที่สำคัญมากๆ ตอนนี้คือ CRC พร้อมที่จะสนับสนุนนักวิจัยของจุฬาฯ ให้เข้ามาใช้บริการได้อย่างทั่วถึง (investigator initiated trials) เราอยากเป็นกลจักรสำหรับขับเคลื่อนงาน Clinical Trail ขอเพียงนักวิจัยมีไอเดีย และความมุ่งมั่น CRC พร้อมที่จะช่วยให้ผลักดันงานวิจัยของท่านสำเร็จลุล่วงไปได้ “เพราะงานวิจัยไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินความสามารถของชาวจุฬาฯ ทุกท่าน งานวิจัยจึงเป็นสิ่งท้าทาย”

ผศ.พญ.ภาวิณี ฤกษ์นิมิตร กล่าวว่าแม้งานวิจัยที่มีคุณภาพจะต้องทุ่มเทแรงกายแรงใจ แต่เทคโนโลยีสมัยใหม่ก็ได้มีส่วนช่วยในการสืบค้นข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ และอำนวยความสะดวกในกระบวนการวิจัยเป็นอย่างมาก ทำให้การทำงานวิจัยที่มีประสิทธิภาพไม่ใช่เรื่องยากเกินความสามารถอีกต่อไป นอกจากนี้การทำงานเป็นทีม (Teamwork) ก็เป็นสิ่งสำคัญของการได้มาซึ่งรางวัลการันตีคุณภาพและการขับเคลื่อนและรักษามาตรฐานงานวิจัยของศูนย์วิจัยทางคลินิก (Chula CRC) ไว้ได้อย่างยั่งยืน